ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” เป็น “BBB-” จาก “BBB” คงอันดับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ระดับ “BBB-” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน วงเงินไ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 16, 2017 14:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)เป็น “BBB-” จาก “BBB” โดยการลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง ตลอดจนปัญหาการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” เช่นเดิม เหตุที่อันดับเครดิตหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ถูกปรับลดลงจากอันดับเครดิตองค์กรนั้นเนื่องจากอัตราส่วนเงินกู้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 20% หลังจากการชำระคืนหนี้เงินกู้ปัจจุบันของบริษัทด้วยหุ้นกู้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้เดิมและหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่จะครบกำหนด

อันดับเครดิตของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอที่บริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement – PPA) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากอัตราการก่อหนี้ในระดับสูงของบริษัทและการทำรายการระหว่างกันของบริษัทในกลุ่ม นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทเนื่องจากบริษัททั้งสองมีกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นกลุ่มเดียวกัน

บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทยโดยมีบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 25.5% ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทและบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกันคือนายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และคณะซึ่งปัจจุบันถือหุ้นบริษัทอยู่ 86.9% และถือหุ้นบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) อยู่ 87.8%

บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลและถ่านหินรวม 10 แห่งภายใต้โครงการ SPP ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 726 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 1,017 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและธุรกิจที่สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งเชื้อเพลิงและเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วย

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งรายได้และแหล่งกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2558-2559 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในสัดส่วน 80%-85% มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ 15%-20% มาจากธุรกิจอื่น ๆ

รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมีความแน่นอนจากการมีสัญญา PPA และสัญญาระยะยาว โดยบริษัทมีสัญญา PPA อายุ 25 ปีกับ กฟผ. จำนวน 304 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือนั้นบริษัทจำหน่ายให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) และบริษัทในเครือภายใต้สัญญาระยะยาวและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราด้วย

โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและชีวมวล แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าประเภทนี้ก็ต้องการการบำรุงรักษามากกว่าและมีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบกับปัญหาเครื่องจักรขัดข้องในโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายแห่งซึ่งส่งผลให้มีการหยุดซ่อมฉุกเฉินมากขึ้น ระดับความพร้อมจ่ายเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าของบริษัทลดลงจากในอดีตเป็นอย่างมาก ในปี 2559 ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าของบริษัทโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 82.46% โดยมีอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินที่ระดับ 9.55% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 นั้นระดับความพร้อมจ่ายเฉลี่ยลดลงเหลือ 81.53% โดยมีอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินที่ระดับ 7.95% ปัจจัยที่ทำให้ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าของบริษัทลดลง นอกจากการหยุดซ่อมฉุกเฉินที่อยู่ระดับสูงแล้ว ยังเนื่องมาจากการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงปี 2554-2557 บริษัทมีระดับความพร้อมจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 84%-89% ต่อปี ในขณะที่อัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินนั้นอยู่ที่ระดับ 3.5%-5.5%

ผลประกอบการของบริษัทในปี 2559 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ต่ำกว่าที่คาดไว้อันเป็นผลจากปัญหาของเครื่องจักร รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และราคาขายไฟฟ้าที่ลดลง การที่เครื่องจักรมีปัญหาทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายไฟฟ้ากับต้นทุนเชื้อเพลิงก็แคบลงเนื่องจากความไม่สอดคล้องกันของสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ ราคาไฟฟ้าที่บริษัทขายให้แก่ กฟผ. นั้นปรับขึ้นลงตามราคาถ่านหิน น้ำมันเตา และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่เชื้อเพลิงของบริษัทประกอบด้วยถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวมวล ราคาของเชื้อเพลิงชีวมวลไม่ได้เคลื่อนไหวตามราคาของถ่านหิน น้ำมันเตา หรือก๊าซธรรมชาติแต่อย่างใด ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเตา และก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างมากและอยู่ในระดับต่ำในช่วงปี 2557 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ทำให้ราคาไฟฟ้าเฉลี่ยที่บริษัทขายให้แก่ กฟผ. ลดลงตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน ค่าไฟฟ้าแปรผันหรือค่า Ft ที่ปรับลดลงก็ส่งผลทำให้ราคาไฟฟ้าเฉลี่ยที่บริษัทขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงด้วยเช่นกัน เมื่อรวมกับปัญหาเครื่องจักรที่ขัดข้องส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปีละ 24%-28% ในช่วงปี 2555-2557 เหลือ 14.9% ในปี 2559 และ 14.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ส่วนธุรกิจเอทานอลของบริษัทนั้นดีขึ้นอย่างมากหลังจากที่ราคามันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบปรับตัวลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจไฟฟ้าได้ อัตรากำไร (อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้) ของบริษัทลดลงจากระดับที่มากกว่า 25% ก่อนปี 2558 เหลือ 19.25% ในปี 2559 และลดลงเหลือ 18.08% สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2560 โดยบริษัทมี EBITDA ลดลงจาก 2,967 ล้านบาทในปี 2558 เหลือ 2,539 ล้านบาทในปี 2559 และสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 นั้น EBITDA ของบริษัทยังคงลดลงเหลือ 1,897 ล้านบาทหรือลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ประเภทชีวมวลสามารถเลือกขายไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FiT) แทนแบบเดิมได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เมกะวัตต์สามารถเลือกรับ FiT ที่อัตรา 4.24 บาทต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์สามารถเลือกรับ FiT ที่อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมติดังกล่าวต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะเข้าร่วมโครงการเมื่อมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 350-500 ล้านบาทต่อปีหากบริษัทขายไฟฟ้าแบบ FiT โดยขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทผลิตได้

บริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14,451 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 มาอยู่ที่ระดับสูงสุด 22,424 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายโรงไฟฟ้าใหม่ 2 แห่งและโรงงานผลิตเอทานอล รวมถึงการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก การก่อสร้างเพื่อขยายโรงไฟฟ้าและโรงผลิตเอทานอลทยอยแล้วเสร็จในช่วงปี 2557-2559 หลังจากนั้นเงินกู้รวมของบริษัทก็ลดลงเล็กน้อยเหลือ 21,198 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2560 อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนในปี 2559 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ทำให้ฐานทุนของบริษัทลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทสูงขึ้นเป็น 71.34% ณ เดือนกันยายน 2560 เทียบกับ 69.17% ณ สิ้นปี 2558 และ 60.2% ณ สิ้นปี 2555 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงเนื่องจากกำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่สูงขึ้น อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจึงปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 2.05-2.43 เท่าในช่วงปี 2558 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับประมาณ 4 เท่าในอดีตก่อนปี 2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 6.58% ในปี 2559 และ 5.31% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีด้วยผลการดำเนินงาน 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 โดยลดลงจากระดับที่มากกว่า 17% ในปี 2555-2557 สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงเพิ่มความเสี่ยงต่อการผิดเงื่อนไขทางการเงิน บริษัทไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินบางประการกับธนาคารบางแห่งแต่ก็ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารเหล่านั้นแล้ว ทั้งนี้ บริษัทมีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินกับผู้ถือหุ้นกู้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนทุนที่ 2.41 เท่า ณ เดือนกันยายน 2560 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ที่ 2.5 เท่าเพียงเล็กน้อย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขทางการเงินหรือดำเนินการผ่อนผันได้ทันเวลาตามเงื่อนไข

ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทมีเงินค่ามัดจำที่จ่ายเพื่อซื้อที่ดินสำหรับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ หรือ IPP (Independent Power Producer) ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องรวม 1,768 ล้านบาท ราคาซื้อที่ดินดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินไว้ที่ 678 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณพื้นที่ของที่ดินที่จะซื้อได้และราคาซื้อขายสุดท้ายจะอ้างอิงจากราคาประเมินล่าสุดซึ่งจะมีการสรุปหลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตที่กำหนดตามสัญญาแล้ว

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2561 บริษัทยังคงดำเนินโครงการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและลดต้นทุน โดยระดับความพร้อมจ่ายโรงไฟฟ้าของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและประสิทธิผลของการลดต้นทุนนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม บริษัทจะได้รับประโยชน์จากราคาไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงอ้างอิงที่ปรับสูงขึ้น ระดับหนี้เงินกู้ของบริษัทคาดว่าน่าจะทยอยลดลงโดยลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานปีละ 1,500-2,600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2563 ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประมาณ 600-1,200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2563 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่รวมหนี้เงินทุนหมุนเวียน ส่วนในปี 2561 บริษัทมีภาระเงินกู้ระยะยาวที่จะต้องชำระคืนประมาณ 850 ล้านบาทและหุ้นกู้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท บริษัทมีแผนจะชำระคืนหนี้เงินกู้ส่วนใหญ่โดยการออกหุ้นกู้ระยะยาวชุดใหม่และชำระจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้ตั๋วแลกเงินอีกจำนวน 315 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2560 ด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 700 ล้านบาทและวงเงินกู้ที่ยังไม่เบิกใช้มากกว่า 500 ล้านบาทสำหรับสนับสนุนการบริหารจัดการชำระหนี้ดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถออกหุ้นกู้เพื่อชำระคืนหนี้ได้หรือสามารถหาวงเงินสำรองได้ก่อนถึงกำหนดชำระคืนหนี้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่’” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการเดินเครื่องที่ราบรื่นขึ้นและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ได้ตลอดจนบริหารจัดการการชำระคืนเงินกู้ได้อย่างเหมาะสม ประสิทธิภาพของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยเพิ่มสถานะทางการเงินของบริษัทให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนนั้นเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยลบที่มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ผลการดำเนินงานที่ด้อยลงไปอีก รวมถึงโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลง หรือการมีวงเงินสนับสนุนเพื่อรองรับการชำระคืนหนี้ที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับอิทธิพลจากอันดับเครดิตของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เนื่องจากบริษัทและบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)
อันดับเครดิตองค์กร BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
NPS184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB-
NPS19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB-
NPS218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ