ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ที่ “BBB+” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Stable” จาก “Positive”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 26, 2019 18:45 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทยังติ้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” เพื่อสะท้อนถึงระยะเวลาที่เกินความคาดหมายของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธกับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) ประเทศไต้หวัน ทั้งในส่วนของการขยายฐานลูกค้า การเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ/หรือการลดการกระจุกตัวของสินเชื่อลง

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งในกลุ่ม แอล เอช ไฟแนนเชียลกรุ๊ป โดยมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่บริษัทถือหุ้น 99.99% เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทได้รับเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังสะท้อนถึงเงินกองทุน และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ตลอดจนการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ และการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากฐานลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ก็เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งในที่สุดก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจการเงิน

ทริสเรทติ้งประเมินสถานะของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (“A-/Stable”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของกลุ่มอยู่ 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้าง โดยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของธนาคาร นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารเป็นหลัก รวมทั้งความไม่แน่นอนจากการเข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หลักของ CTBC Bank ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลจากทางการ หรือการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผลของธนาคารให้แก่บริษัท

บริษัทย่อยของบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประกอบด้วยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (“A/Stable“) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แอดไวเซอรี่ จำกัด มูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อยู่ที่ระดับ 245,933 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 สถานะทางการเงินของบริษัทเกือบทั้งหมดสะท้อนถึงสถานะของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เนื่องจากสินทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วนถึง 98.8% ของสินทรัพย์ของบริษัท ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ระดับ 1.3% และเงินฝากที่ระดับ 1.4% ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่มูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 238,658 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ซี่งเป็นอันดับ 11 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง

แนวทางใหม่ในการการเติบโต

แม้ว่าการพัฒนาธุรกิจจะมีความก้าวหน้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคาดหวังว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัทลูกอื่น ๆ ในกลุ่มบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จะสามารถขยายธุรกิจ และเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และทั้งนี้ ในระยะยาว ทริสเรทติ้งก็คาดหวังการขยายตัวของสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิต่อรายได้รวมของบริษัทจะขยายตัวจากระดับ 9.6% ในปี 2561

ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าธุรกิจซึ่งประกอบด้วยบริการการค้าระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ และบริการบัญชีเงินเดือนพนักงาน ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มยังได้ดำเนินกลยุทธ์ใหม่ไปพร้อมกับการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ เช่น บริการทางการเงินสำหรับลูกค้าสถาบัน (Business Banking) บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (Transaction Banking) และบริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ตัวอย่างสำหรับบริการด้านธุรกรรมธนาคารนั้นคือ กลยุทธที่ทางกลุ่มจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับ “QF Pay” ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินออนไลน์จากประเทศจีนด้วยการใช้แพลตฟอร์มของ “QFPay” เพื่อเข้าถึงร้านค้าจำนวนมากที่เป็นผู้เช่าในห้างสรรพสินค้า Terminal 21 และโรงแรมในเครือ Grande Centre Point ซึ่งเป็นธุรกิจที่ บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารงาน บริษัทแอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล เป็นบริษัทลูกของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิต “A+/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแม่ของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ห้างสรรพสินค้า Terminal 21 และโรงแรมในเครือ Grande Centre Point ต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งศักยภาพที่จะสร้างการทำธุรกรรมการจ่ายเงินในปริมาณมากอันจะและเสริมความสามารถในการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ในอนาคต

?

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีแผนนำเสนอบริการของธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการกองทุนผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือของธนาคาร เพื่อขยายการนำเสนอบริการให้กับกลุ่มลูกค้าบริหารความมั่งคั่งของธนาคารอีกด้วย

เงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จะคงรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งไว้ได้ โดยประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะอยู่ที่ระดับ 17%-18% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยทริสเรทติ้งมีสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับประมาณ 6% ต่อปี และอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 40% ของรายได้สุทธิ ทั้งนี้ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 85% ของเงินกองทุนรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2561 บ่งชี้ถึงคุณภาพเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง

คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีความแข็งแกร่ง แต่มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีการกระจุกตัวของสินเชื่อสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กและขนาดกลางอื่น ๆ ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง โดยมีลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารไม่กี่รายที่มีสัดส่วนสินเชื่อและเงินฝากรวมในระดับสูง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 75% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารยังขาดฐานเงินฝากของลูกค้ารายย่อยที่กระจายตัว และยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่มีความหลากหลาย

ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมตามที่รายงานอยู่ที่ระดับ 2.2% ณ สิ้นปี 2561 เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 3.1% ซึ่งสะท้อนถึงสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูง ต้นทุนทางเครดิตเฉลี่ยของธนาคารก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ 0.4% ในปี 2561 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.3% สำหรับสัดส่วนปริมาณสำรองสินเชื่อสงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารนั้นอยู่ที่ระดับ 108% ในปี 2561 ถึงแม้อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นจาก 80% ในปี 2557 และ 92% ในปี 2558 แต่ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 147%

การสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม ลักษณะของแหล่งเงินทุนของบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป สะท้อนถึงลักษณะแหล่งของเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทั้งนี้ สถานะเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์นั้นอ่อนแอและมีการกระจุกตัวในกลุ่มลูกค้าเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง ทั้งบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ต่างก็อยู่ในกลุ่มลูกค้าเงินฝากขนาดใหญ่ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงอยู่ที่ระดับ 95% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 107% ในปีที่ผ่านมาจากการขยายตัวเป็นอย่างมากของเงินฝาก บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account -- CASA) ต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 47% ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ทริสเรทติ้งยังมองว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำและการลดลงของเงินกู้ยืมในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเนื่องมาจากการปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์การดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับการใช้ไปของเงิน (Net Stable Funding Ratio -- NSFR) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเป็นการบริหารต้นทุนทางการเงินของบริษัทอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากงบการเงินเดี่ยวแล้ว บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และบริษัทย่อยยังได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในลักษณะของการให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน

สภาพคล่องที่เพียงพอ

เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวมแล้วถือว่าสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์นั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กซึ่งอยู่ที่ระดับ 158% และที่ระดับ 183% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากธปท. ในขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทนั้นอยู่ที่ระดับ 36% ณ สิ้นปี 2561 เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม และอยู่ที่ระดับ 27% เมื่อพิจารณาจากงบการเงินเดี่ยวของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในระหว่างปี 2562-2564

• อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6%

• ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.4%

• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.2%-2.4%

• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์) จะอยู่ที่ระดับ 17%-18%

• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8%

?

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักจะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านธุรกิจและเงินกองทุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank โดยน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมจากการขยายตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การขยายฐานลูกค้า และการเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในขณะที่การกระจุกตัวของสินเชื่อนั้นน่าจะลดลงได้ในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในการขยายธุรกิจและรายได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้หวังจะเห็นความสำเร็จในการดำเนินงานของธนาคารที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของการมีฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมที่เพิ่มสูงขึ้น และการกระจุกตัวของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็ควรจะรักษาคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน หาก เงินกองทุนถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างชัดเจน ทริสเรทติ้งก็อาจจะทำการปรับลดอันดับเครดิตลง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 30 มีนาคม 2560

- Group Rating Methodology, 10 กรกฏาคม 2558

บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
LHFG207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ