เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 26, 2019 10:00 —ทริส เรตติ้ง

ขอบเขตของเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต

เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตนี้ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตองค์กรของธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่มีลักษณะเป็นสินเชื่อโครงการ (Project Finance Company) และนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV) โดยเกณฑ์นี้จะนำมาใช้แทนที่ “วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป” ฉบับเดิมซึ่งเผยแพร่โดยทริสเรทติ้งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2550

บทคัดย่อ
เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไปนี้ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงพื้นฐาน 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านธุรกิจ และการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงิน โดยผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงร่วมกันทั้งในด้านธุรกิจและในด้านการเงินจะออกมาเป็นอันดับเครดิตเบื้องต้น (Anchor Rating)
การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านธุรกิจจะเริ่มจากการพิจารณาความเสี่ยงของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
กับบริษัทนั้น ๆ แล้วตามมาด้วยความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยความสามารถในการแข่งขันจะวัดจากส่วนแบ่งทางการตลาด ขนาดของธุรกิจ ความหลากหลายของสินค้าหรือบริการ และประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน สำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจนอกประเทศไทย          ทริสเรทติ้งจะพิจารณาความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ระบบการเงิน และกฎระเบียบของประเทศที่บริษัทนั้นประกอบธุรกิจอยู่ด้วย
ในส่วนของการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงินนั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นที่การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดและอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage Ratio) โดยทั่วไปแล้ว ทริสเรทติ้งจะวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลในอดีต 2-3 ปี ข้อมูลในปีปัจจุบัน และข้อมูลในอนาคตจากการประมาณการอีกอย่างน้อย 2 ปี
อันดับเครดิตเบื้องต้นที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจและความเสี่ยงด้านการเงินนั้นอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยปัจจัยอื่นที่ยังไม่ได้รวมในการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งธรรมาภิบาลขององค์กร ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความยืดหยุ่นทางการเงิน ความหลากหลายของประเภทธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น
ในกรณีที่บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทริสเรทติ้งอาจจะทำการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจด้วยหากการดำเนินธุรกิจหรือสถานะทางการเงินของบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่ม โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่มีความแข็งแรง หรืออันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกจำกัดไว้ที่อันดับเครดิตของกลุ่มหากกลุ่มธุรกิจมีสถานะทางเครดิตที่ด้อยกว่าบริษัท

1.	ความเสี่ยงด้านธุรกิจ

การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านธุรกิจจะเน้นที่การประเมินความเสี่ยงของอุตสาหกรรม รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทนั้น ๆ โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนความสามารถในสร้างและรักษาระดับกำไรของบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันจะวัดได้จากส่วนแบ่งทางการตลาด ขนาดของธุรกิจ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

1.1.	การวิเคราะห์ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม

ทริสเรทติ้งจำแนกระดับความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเป็น 5 ระดับ ได้แก่ “ต่ำมาก” “ต่ำ” “ปานกลาง” “สูง” และ “สูงมาก” โดยพิจารณาจากความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม และสภาพการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม

•	ความผันผวนของรายได้และกำไร

ความผันผวนของรายได้และกำไรวัดจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้และผลกำไรจากจุดต่ำสุดไปยังจุดสูงสุดในช่วงที่มีวิกฤต โดยอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูงกว่าจะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนน้อยกว่า ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 2 ครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ วิกฤตทางการเงินในเอเชียในปี 2540 และวิกฤตทางการเงินโลกในปี 2551 ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนจำนวนมากประสบกับการขาดทุนหรือต้องเลิกกิจการ ในขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 มีความรุนแรงน้อยกว่าเนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากที่ได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้ว ทำให้ลดผลกระทบจากวิกฤตการเงินปี 2551

จากข้อมูลในช่วงที่ตลาดประสบกับภาวะวิกฤตทั้ง 2 ครั้งพบว่าหลายอุตสาหกรรมมีความผันผวนของรายได้และกำไรค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนส่งที่มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลง เช่น ธุรกิจเดินเรือและสายการบิน ส่วนธุรกิจที่มีความผันผวนของรายได้และกำไรค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ธุรกิจสาธารณูปโภค โดยการจัดอันดับความเสี่ยงของอุตสาหกรรมในแต่ละอุตสาหกรรมได้แสดงไว้ในเอกสารแนบท้ายรายงานนี้

•	แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม

แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับวงจรของอุตสาหกรรม เช่น ช่วงเริ่มต้น ช่วงเติบโต ช่วงมีเสถียรภาพหรือคงที่ และช่วงถดถอย ทั้งนี้ การวิเคราะห์การเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงก็อาจไม่ได้รับอันดับเครดิตที่ดีเนื่องจากบริษัทนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมดังกล่าวอาจมีการเติบโตสูงเพียงชั่วคราวตามสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงต้องมีการประเมินอย่างถี่ถ้วนว่าการเติบโตนั้นจะยั่งยืนหรือไม่อย่างไร

อุตสาหกรรมที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอและสามารถประมาณการได้ค่อนข้างแน่นอนอย่างเช่น สาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งนั้นจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงแต่กระแสเงินสดไม่สม่ำเสมออย่างเช่น สันทนาการและการท่องเที่ยว (โรงแรม) อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และก่อสร้าง เป็นต้น

•	สภาพการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม

ความรุนแรงของการแข่งขันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนผู้ประกอบการ อุปสงค์-อุปทาน ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี หรือเหล็ก มักจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่บริษัทเหล่านี้ต้องแข่งขันกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็มักไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ทำให้การแข่งขันขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก ดังนั้น การตัดราคาเมื่อมีอุปทานที่มากเกินความต้องการจึงเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมเหล่านี้
ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ จำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงเช่นกัน แม้ว่าการแข่งขันจะจำกัดเฉพาะภายในประเทศแต่ก็ยังจัดว่ามีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก
อุตสาหกรรมที่อาจจัดว่ามีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่อาจถูกทดแทนได้ง่ายด้วยสินค้าหรือบริการอื่น หรืออุตสาหกรรมที่ลูกค้ามีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผู้ให้บริการไม่สูง ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการได้มากนักเนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองต่ำ

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง หรือธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐมักเผชิญกับการแข่งขันที่ค่อนข้างต่ำ อุตสาหกรรมเหล่านี้มีจำนวนผู้แข่งขันไม่มากนักเนื่องจากมีความต้องการเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงและจำนวนใบอนุญาตที่ให้มีจำกัด โอกาสที่จะมีผู้เข้ามาในอุตสาหกรรมจึงยากขึ้น ดังนั้น ความรุนแรงของการแข่งขันจึงมีต่ำ

1.2.	ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมีดังต่อไปนี้
?
•	ความได้เปรียบในการแข่งขัน

บริษัทที่จะได้รับการประเมินที่ดีในข้อนี้จะต้องสามารถรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะต้องทำผลงานได้ดีกว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งในช่วงที่สภาพตลาดดีและไม่ดี ความสำเร็จในการปรับกลยุทธ์ในอดีตก็เป็นผลบวกต่อการประเมินความสามารถในการแข่งขันของบริษัท  บริษัทอาจแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตอบสนองต่อสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปจากความต้องการ รสนิยมของผู้บริโภค หรือกฎระเบียบที่เปลี่ยนไป โดยการประเมินความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงผลสำเร็จเชิงกลยุทธ์ของบริษัทนั้นสามารถวัดได้จากส่วนแบ่งทางการตลาด คุณค่าของตราสินค้า ความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่สูงกว่าคู่แข่งได้ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและลูกค้า


ส่วนแบ่งทางการตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงสถานะของบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง บริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าคู่แข่ง เช่น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างน้อย 20% ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ หลาย ๆ ราย บริษัทดังกล่าวก็มักจะมีความได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการอื่น บริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมักได้เปรียบในเรื่องอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าและผู้จัดจำหน่าย และการกำหนดราคาสินค้า แต่บางบริษัทก็อาจไม่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเลยหากตลาดมีผู้ประกอบการเพียง 3-4 รายและไม่มีผู้ประกอบการรายใดเลยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน

สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าและน้ำประปา  ความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการจะขึ้นอยู่กับความได้เปรียบจากสัญญาซื้อขายที่มีกับผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ซื้อซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความน่าเชื่อถือ  ความได้เปรียบในการทำธุรกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเสี่ยง ผลตอบแทน และกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ

•	ขนาดและความหลากหลายของประเภทสินค้าและบริการ
ขนาดของธุรกิจมักมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการแข่งขัน โดยปกติทั่วไป บริษัทที่มีขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบในเรื่องของอำนาจการต่อรอง ต้นทุนการผลิต และช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ขนาดของธุรกิจที่เล็กก็มิได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยกว่าเสมอไป บริษัทที่มีขนาดเล็กอาจมีความได้เปรียบเหนือบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าในเรื่องของความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์หรือบริการ การมีตลาดเฉพาะ หรือการมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า นอกจากนี้ บริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าก็อาจมีความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจและมีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าก็ได้ อย่างไร
ก็ตาม บริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าก็อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าในกรณีที่ขนาดของตลาดลดลงหรือกรณีที่บริษัทสูญเสียลูกค้าสำคัญไปไม่กี่ราย
ความหลากหลายที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจของบริษัทจะแตกต่างกันไปตามประเภทของอุตสาหกรรม โดยความหลากหลายอาจจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ ระดับราคาของสินค้า พื้นที่การขายที่ครอบคลุม และฐานลูกค้า เป็นต้น
ทริสเรทติ้งวัดความหลากหลายของสินค้าหรือบริการของบริษัทเปรียบเทียบกับคู่แข่งว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยดูจากจำนวนและทำเลของสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ จำนวนประเภทของสินค้า และรายได้ที่ได้จากแต่ละกลุ่มสินค้าหรือกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทที่มีความหลากหลายมากกว่ามักจะได้รับคะแนนที่ดีกว่าในหัวข้อนี้ ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ต้องพึ่งพาลูกค้าไม่กี่รายหรือสินค้าไม่กี่ประเภทนั้นจะถือว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง
•	ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทจะวัดได้จากความสามารถของบริษัทในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ได้สูงสุด โดยการเพิ่มการใช้กำลังการผลิตและลดต้นทุนในการดำเนินงาน การลดต้นทุนในการดำเนินงานอาจทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง นอกจากนี้ โครงสร้างต้นทุนของบริษัทควรจะสามารถรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ดีกว่าคู่แข่ง บริษัทที่มีต้นทุนคงที่ต่ำกว่าคู่แข่งจะมีความสามารถที่จะทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงตกต่ำได้ดีกว่าคู่แข่ง โดยทั่วไป ประสิทธิภาพในการดำเนินงานจะมีความสำคัญค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้า
โภคภัณฑ์ซึ่งต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งเพื่อความคุ้มค่าในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ และน้ำตาล
โดยทั่วไป บริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่ามักจะได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด อย่างไรก็ดี ความสามารถในการควบคุมต้นทุนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต ความสามารถในการหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่า หรือการบริหารสินค้าคงเหลือที่เหมาะสม ประสิทธิภาพในการดำเนินงานอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในบางอุตสาหกรรมที่ลูกค้าจะเลือกสินค้าหรือบริการโดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าราคา เช่น การให้บริการทางด้านการแพทย์ สื่อโฆษณาและบันเทิง และภัตตาคาร
1.3.	ความสามารถในการทำกำไร

ในการวิเคราะห์เรื่องความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นที่ระดับของอัตรากำไรและความสามารถในการคงอัตรากำไรของบริษัทโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยอัตรากำไรของบริษัทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอาจหมายถึงความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งและ/หรือความสามารถในการควบคุมต้นทุนที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ บางบริษัทอาจใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้รายได้ของบริษัทดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรก็อาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี อัตรากำไรที่สูงกว่าก็อาจจะทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาได้มากกว่าเมื่อมีความจำเป็น ในขณะที่กำไรที่ลดลงก็อาจหมายถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีอุปทานส่วนเกินหรือความต้องการที่ลดลง

อัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรที่ทริสเรทติ้งใช้ ได้แก่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร เป็นต้น นอกเหนือจากระดับของอัตราการทำกำไรแล้ว
ทริสเรทติ้งยังให้ความสำคัญกับความมีเสถียรภาพของอัตรากำไรของบริษัทอีกด้วย โดยบริษัทที่มีอัตรากำไรค่อนข้างคงที่จะถือว่ามีความได้เปรียบกว่าบริษัทที่มีอัตรากำไรที่สูงกว่าแต่มีความผันผวนกว่า

2.	ความเสี่ยงด้านการเงิน
ในการประเมินความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งจะเน้นที่การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดและโครงสร้างทางการเงิน โดยในการวิเคราะห์จะใช้ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลในปีปัจจุบัน และตัวเลขอัตราส่วนที่ได้จากการประมาณการทางการเงินในอนาคตอย่างน้อย 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งอาจไม่ให้ความสำคัญกับตัวเลขในอดีตสำหรับบริษัทที่เพิ่งมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากในกรณีนี้ข้อมูลในอดีตจะไม่มีผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทในอนาคตอีกต่อไป
2.1 	คุณภาพงบการเงินและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน
ในการวิเคราะห์ทางการเงินนั้น ทริสเรทติ้งจะใช้งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบ/สอบทานจากผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นหลัก  ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่างบการเงินดังกล่าวนั้นได้ผ่านการตรวจสอบและ/หรือสอบทานโดยผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยแล้ว ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่สามารถให้ความเห็นหรือให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไขในประเด็นที่สำคัญของงบการเงิน ทริสเรทติ้งจะใช้หลักความระมัดระวังในการให้อันดับเครดิต หรืออาจจะไม่จัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทดังกล่าวเลย อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบในกรณีที่ผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไขต่องบการเงินของบริษัทและบริษัทไม่สามารถให้เหตุผลที่เป็นที่ยอมรับได้ ทำให้มีประเด็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของงบการเงินดังกล่าว
โดยทั่วไป ทริสเรทติ้งจะใช้งบการเงินรวมมากกว่างบเดี่ยวในการวิเคราะห์ เนื่องจากงบการเงินรวมแสดงให้เห็นภาพรวมของบริษัทและบริษัทย่อย โดยสุทธิจากรายการที่เกิดขึ้นระหว่างกัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจมีการปรับปรุงอัตราส่วนทางการเงินเพื่อให้สะท้อนสถานะทางการเงินของบริษัทได้ดีขึ้นและสามารถเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตรายอื่น ๆ ได้ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งหมดนั้นมาจากตัวเลขที่มีการปรับปรุงตามมาตรฐานดังที่อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน” ที่เผยแพร่โดยทริสเรทติ้งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561
2.2 	กระแสเงินสดและโครงสร้างทางการเงิน
อัตราส่วนทางการเงินสำคัญ ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ในการประเมินโครงสร้างทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทมีดังต่อไปนี้
•	อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน
•	อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
•	อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย
•	อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อแหล่งเงินทุน

3.	ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตเบื้องต้นที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจและความเสี่ยงด้านการเงินอาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้รวมไว้ในการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจและความเสี่ยงด้านการเงินข้างต้น ตัวอย่างของปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ การบริหารงานและธรรมาภิบาล สภาพคล่อง ความยืดหยุ่นทางการเงิน ความหลากหลายของธุรกิจ หรือปัจจัยอื่น ๆ (ถ้ามี)
•	การบริหารงานและธรรมาภิบาล

การบริหารงานมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบริษัท ในการประเมินความสามารถของคณะผู้บริหาร
ทริสเรทติ้งจะเน้นที่ประสบการณ์ในอดีตของคณะผู้บริหาร ความสำเร็จ ความล้มเหลว วิสัยทัศน์ ความน่าเชื่อถือ ลักษณะการบริหารงานในแง่ของความโปร่งใส การทำงานเป็นหมู่คณะ การมอบหมายความรับผิดชอบ และการมีแผนรองรับการสืบทอดความรับผิดชอบ

แม้ว่าการวิเคราะห์จะเป็นไปในเชิงนามธรรมค่อนข้างมาก แต่ตัวแปรดังกล่าวก็อาจวัดได้จากการพิจารณาผลการดำเนินงานในอดีต อัตราการเติบโต ความสามารถของผู้บริหารในการฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงวิกฤต ความต่อเนื่องของคณะทำงาน และนโยบายทางการเงินของบริษัท ในขณะที่การประเมินคุณภาพของผู้บริหารนั้นสามารถประเมินได้จากการสัมภาษณ์คณะผู้บริหาร สัมภาษณ์คณะกรรมการตรวจสอบ และการเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม

•	สภาพคล่อง

สำหรับการวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นที่ความเพียงพอของกระแสเงินสดที่ได้มาเมื่อเปรียบเทียบกับกระแสเงินสดที่ต้องการใช้ในช่วงเวลา 12-24 เดือนข้างหน้าเป็นหลัก  สำหรับบริษัทที่มีหนี้ครบกำหนดชำระในปีใดปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก ทริสเรทติ้งจะประเมินความสามารถของบริษัทในการกู้หนี้ใหม่เพื่อนำมาใช้ชำระคืนหนี้เดิมและยังพิจารณาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทมีด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากบริษัทมีหนี้ระยะสั้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับสภาพคล่องที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การประเมินสภาพคล่องจะพิจารณาร่วมกับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท ตลอดจนความสัมพันธ์กับสถาบันการเงิน และความสามารถในการระดมเงินจากตลาดทุนด้วยเช่นกัน

•	ความยืดหยุ่นทางการเงิน
บริษัทที่มีเงินลงทุนในบริษัทร่วม และ/หรือมีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักที่ใช้ในการดำเนินงานที่สามารถขายเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้ในยามจำเป็นจะถือว่ามีความยืดหยุ่นทางการเงินมากกว่าบริษัทอื่น โดยเงินลงทุนดังกล่าวควรมีมูลค่าทางการตลาดและสามารถขายได้ในระยะเวลาที่ไม่นานมาก โดยทั่วไปเรายังไม่ได้รวมการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ดังกล่าวในการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจหรือความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัท นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวจะต้องไม่ใช่การลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท และการขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการขายจะต้องสามารถนำไปใช้ชำระคืนหนี้และลดภาระหนี้ลงอย่างมีนัยสำคัญ
•	ความหลากหลายของธุรกิจ

บริษัทหนึ่ง ๆ อาจจะมีธุรกิจหลักหลายประเภทภายใต้การบริหารงานของตน โดยธุรกิจดังกล่าวนั้นอาจจะมีหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่น ๆ เลย โดยทั่วไปแล้ว หากธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทนั้น ๆ มีความสัมพันธ์กันมากและมีแนวโน้มไปในทิศทางขึ้นหรือลงเหมือนกัน ประโยชน์ที่จะได้จากการมีหลายธุรกิจก็จะมีน้อย ธุรกิจที่หลากหลายจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้บริหารสามารถดำเนินธุรกิจที่มีอยู่อย่างหลากหลายนั้นได้ในเวลาเดียวกันและธุรกิจที่มีหลากหลายนั้นจะต้องช่วยลดความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทได้ และหากมีการเริ่มธุรกิจใหม่ก็จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อธุรกิจที่มีอยู่ก่อนด้วย ในบางกรณีพบว่า บริษัทมีความพยายามที่จะขยายการลงทุนไปในธุรกิจใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและในที่สุดก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลทำให้ทั้งธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ล้มเหลว ดังนั้น ในการประเมินอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งจะใช้ความระมัดระวังในการวิเคราะห์ในกรณีที่บริษัทมีการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่
•	ปัจจัยอื่นๆ (ถ้ามี)
สำหรับปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลบวกหรือลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ ประวัติการดำเนินงานที่สั้นไป การมีความเสี่ยงด้านกฎหมายหรือมีภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต  หรือบริษัทอยู่ในช่วงที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายธุรกิจหรือโครงสร้างทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ
ในขั้นตอนสุดท้าย อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทจะมีการเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจถูกปรับขึ้นหรือลดลงตามความเห็นของคณะกรรมการจัดอันดับเครดิต ซึ่งหากมีการปรับมักจะไม่เกินหนึ่งอันดับ


4.	อันดับเครดิตของกลุ่มบริษัท

ในกรณีที่บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่กว่า ทริสเรทติ้งอาจต้องทำการประเมินความเสี่ยงของทั้งกลุ่มบริษัทหากการดำเนินธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทที่มีความเข้มแข็งกว่าตัวบริษัทเอง ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจถูกกำหนดให้ไม่เกินอันดับเครดิตของกลุ่มบริษัทหากกลุ่มบริษัทมีความอ่อนแอกว่าตัวบริษัทเอง ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะขึ้นกับผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจ

โดยอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทย่อยของกลุ่มที่มีความเข้มแข็งกว่าตัวบริษัทเองจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทย่อยนั้น หากบริษัทย่อยดังกล่าวมีคุณสมบัติเข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มในช่วงที่บริษัทประสบปัญหา ในทางตรงกันข้ามหากบริษัทย่อยมีความเข้มแข็งกว่ากลุ่ม อันดับเครดิตของบริษัทย่อยก็อาจจะถูกกำหนดให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่าอันดับเครดิตของกลุ่ม ทั้งนี้ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตของกลุ่มบริษัท” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการประเมินความสำคัญของบริษัทย่อยนั้น ๆ ที่มีต่อกลุ่มทั้งในเชิงกลยุทธ์ รายได้ หรือสินทรัพย์เมื่อเทียบกับกลุ่ม เงินลงทุน ความช่วยเหลือที่ได้รับหรือให้แก่บริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มในช่วงที่มีภาวะวิกฤตในอดีตที่ผ่านมา หรือการที่มีการใช้ชื่อตราสัญลักษณ์สินค้าร่วมกันภายในกลุ่ม เป็นต้น
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500, www.trisrating.com
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ