ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. กรุงเทพดุสิตเวชการ” เป็น “AA” จาก “AA-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 24, 2019 10:45 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “AA” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่เข้มแข็งขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่ ความพยายามในการลดหนี้ที่เร็วกว่าคาดและการมีฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในขณะเดียวกันกับที่บริษัทยังคงสามารถรักษาผลประกอบการที่ดีเอาไว้ได้พร้อมทั้งมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยโดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักเป็นอย่างดี การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ถดถอยลงซึ่งอาจนำไปสู่แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอัตราที่ลดลงอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ภาระหนี้สินที่ลดลงช่วยเสริมสร้างสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.51 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากระดับ 2.11 เท่าในปี 2561 อัตราส่วนที่ลดลงนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นทั้งจากโรงพยาบาลใหม่ที่เปิดให้บริการและโรงพยาบาลเดิมที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งจากความพยายามในการลดภาระหนี้ที่ทำได้เร็วกว่าที่คาดไว้

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.85 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จากระดับ 1.67 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และอยู่ที่ระดับ 9.05 พันล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 3.22 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากระดับประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2561 อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้นำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ไปชำระคืนเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มีกับธนาคารจำนวนรวมประมาณ 8 พันล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนเวลาครบกำหนด นอกจากนี้ การแปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทจำนวน 8.44 พันล้านบาทมาเป็นหุ้นสามัญก็ช่วยเสริมสร้างฐานทุนของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8.06 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากระดับ 7.34 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25.26% ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากระดับ 34.71%-36.29% ในช่วงระหว่างปี 2560 และ 2561

ทั้งนี้ คาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในระดับ 2.9-3.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากแผนการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 บริษัทจะนำเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปใช้เพื่อการบำรุงรักษาสินทรัพย์ประมาณปีละ 5.9-6.4 พันล้านบาท รวมทั้งใช้ลงทุนในโรงพยาบาลจอมเทียนในจังหวัดชลบุรีอีกจำนวน 900 ล้านบาท และสำหรับการขยายพื้นที่บริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในโรงพยาบาลที่มีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทแล้วทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะสามารถใช้เงินทุนจากการดำเนินส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนได้

เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวาง

บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางที่สุดในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมโรงพยาบาล 48 แห่งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางในต่างจังหวัดช่วยลดการพึ่งพารายได้จากโรงพยาบาลหลักของบริษัทในกรุงเทพฯ และยังช่วยกระจายแหล่งที่มาของรายได้อีกด้วย บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ในปี 2561 อยู่ที่ 17% ของรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์รวม ลดลงโดยลำดับจากระดับ 22% ในปี 2558 นอกจากนี้ โรงพยาบาลใหม่ในเครือข่ายของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในต่างจังหวัดก็มีการเติบโตที่ดีขึ้นและเริ่มสร้างผลกำไร โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ โรงพยาบาล สมิติเวช ชลบุรี และโรงพยาบาล Royal Phnom Penh มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 15% 25% และ 36% ตามลำดับ

บริษัทยังให้บริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่เวชศาสตร์ป้องกันไปจนถึงการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนรุนแรงและโรคเฉพาะทางอีกด้วย บริษัทได้พัฒนาศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ (Centers of Excellence -- COEs) โดยทำการยกระดับโรงพยาบาลชั้นนำจำนวน 10 แห่งในเครือและเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ขั้นสูงเพื่อให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศและการรักษาโรคซับซ้อนเฉพาะทางจะช่วยเพิ่มจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติและชาวไทยที่มีรายได้สูงซึ่งมีความต้องการรับบริการด้านสุขภาพที่มีความเป็นพิเศษมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2561 บริษัทยังได้เปิด “BDMS Wellness Clinic” ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทก็ได้เปิด “Movenpick BDMS Wellness Resort Bangkok” ซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 290 ห้องที่ตั้งอยู่ติดกับ BDMS Wellness Clinic อีกด้วย โดยโรงแรมแห่งนี้จะให้บริการคู่กับ BDMS Wellness Clinic ในด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยรวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคและยกระดับสุขภาพ

ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทสามารถให้บริการผู้ป่วยในจำนวนทั้งสิ้น 6,032 เตียง โดยคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเตียงโดยเฉลี่ยต่อโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ประมาณ 100 เตียงต่อโรงพยาบาล นอกจากนี้ บริษัทยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมโดยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเครือโรงพยาบาลราว ๆ 12,000 คนและมีพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาอีกประมาณ 8,000 คน เมื่อพิจารณาถึงขนาดเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางและบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายแล้ว ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าบริษัทน่าจะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและคงความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งต่อไปได้ในช่วงระยะสั้นถึงระยะปานกลาง

ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่งซึ่งครอบคลุมคนไข้หลากหลายกลุ่มช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้

บริษัทมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลัก ๆ จำนวน 5 ตราซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในประเทศไทย ได้แก่ “โรงพยาบาลกรุงเทพ” “โรงพยาบาลสมิติเวช” “โรงพยาบาลบีเอ็นเอช” “โรงพยาบาลพญาไท” และ “โรงพยาบาลเปาโล” ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 15 แห่งและคลินิกอีก 1 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติและคนไข้ชาวไทย โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางระดับบนไปจนถึงรายได้สูงและคนไข้ชาวต่างชาติ ในขณะที่โรงพยาบาลเปาโลและโรงพยาบาลพญาไทมีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและคนไข้ในระบบประกันสังคม โดยรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รวมของบริษัท

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอลงและเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยนอกชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลของบริษัทยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวน 4,114 คนต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จาก 4,010 คนต่อวันในปี 2561 และ 3,763 คนต่อวันในปี 2560 ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยในชาวต่างชาติมีจำนวน 709 คนต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 636 คนต่อวันในปี 2561 และ 599 คนต่อวันในปี 2560 รายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติจากประเทศกัมพูชา โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 22% 82% และ 94% ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยนอกชาวไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันโดยมาอยู่ที่ 25,433 คนต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จาก 25,022 คนต่อวันในปี 2561 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยในชาวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 3,294 คนต่อวัน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากสมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับประมาณ 5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยปัจจัยขับเคลื่อนจะมาจากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากโรงพยาบาลใหม่และโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมในเครือ รวมทั้งจากระดับความรุนแรงของโรคที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความพยายามขยายฐานกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ในช่วงระยะสั้นถึงระยะปานกลางด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีรายได้ค่ารักษาพยาบาลจากกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 31% ของรายได้จากการรักษาพยาบาลรวมของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจาก 28% ในปี 2561 และ 26% ในปี 2560 บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานในปี 2561 ที่ระดับ 22.6% ซึ่งสูงกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำไรของคู่แข่งในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 20% โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21.4% อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ตลอดจนค่าใช้จ่ายดำเนินงานคงที่ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น และผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ว่าด้วยการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับผลประโยชน์พนักงานกรณีเลิกจ้าง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับประมาณ 20% ซึ่งสะท้อนถึงอัตรากำไรที่ต่ำกว่าของโรงพยาบาลใหม่และของโรงแรม Movenpick BDMS Wellness Resort Bangkok

การแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงดำเนินต่อไป

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวจะส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยชาวไทยลดลงและยังคาดว่าจะมีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นใหม่อีกหลายแห่งในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้าซึ่งจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน นอกจากจะต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนไทยด้วยกันเองแล้ว โรงพยาบาลเอกชนที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติยังจะต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าประเทศไทยจะยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปจากปัจจัยสนับสนุนที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ จำนวนชาวต่างชาติโดยเฉลี่ยที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคนต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทยยังรายงานด้วยว่าการให้บริการทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติในประเทศไทยสร้างรายได้ประมาณ 3.22 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 18% จากปี 2560 ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ได้อนุมัติให้วีซ่านาน 90 วันแก่ผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากประเทศจีนและจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจากภูมิภาคเอเซียตะวันออกและอินโดจีนที่ต้องการใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า

ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการควบคุมราคายา

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม โดยโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องแจ้งราคาซื้อและราคาจำหน่ายยาแก่กรมการค้าภายใน และต้องแสดงราคาจำหน่ายผ่านทางเวบไซต์ของโรงพยาบาลหรือแสดงผ่านเครื่องหมาย QR Code นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย โรงพยาบาลจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อกรมการค้าภายในก่อนการเปลี่ยนแปลงราคา โรงพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนต้องออกใบสั่งยาให้แก่ผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยมีความจำนงขอซื้อยานอกโรงพยาบาล ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ค่ายาของบริษัทเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงซื้อยาจากโรงพยาบาล อีกทั้ง บริษัทยังเชื่อว่าราคาจำหน่ายที่สูงกว่าราคาในร้านขายยาทั่วไปนั้นสะท้อนถึงคุณภาพของยาและมาตรฐานในการเก็บรักษาที่ดีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเรียกคืนยาที่อาจมีปัญหาหรือมีการแจ้งเรียกคืนจากบริษัทจำหน่ายยาได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัทจะมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.05 หมื่นล้านบาทที่มี ณ เดือนมิถุนายน 2562 โดยบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.4-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะเป็นค่าใช้จ่ายเงินลงทุนตามแผนประมาณ 9 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี บริษัทมีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จำนวน 3.09 พันล้านบาทกับอีกประมาณ 5.19 พันล้านบาทในปี 2563 และคาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลประมาณ 5.5-6.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมรวมอยู่ที่ 2.22 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่จะช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย

ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 1.75 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่ให้เกิน 3.25 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทสามารถรักษาข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวเอาไว้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 0.4 เท่าและ 1.5 เท่าตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้ของบริษัทน่าจะเติบโตที่ระดับประมาณ 5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

• อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 20% ต่อปีในช่วงปี 2562-2565

• บริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาทโดยรวมในช่วงปี 2562-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ได้และจะยังคงมีผลประกอบการทางการเงินที่เข้มแข็งต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกจากการใช้เงินกู้เป็นเงินลงทุนและ/หรือซื้อกิจการจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงกว่า 2.0 เท่า หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ต่ำกว่า 40% เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในระยะปานกลาง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BDMS202A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA
BDMS222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA
BDMS233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
BDMS242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
BDMS256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
BDMS266A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ