ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ที่ “AAA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 19, 2020 11:43 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ตลอดจนสถานะในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ ในการประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ กฟผ. และการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศ

สถานะทางธุรกิจของ กฟผ. สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย โดย กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญซึ่งรับผิดชอบการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยมีโครงสร้างเป็นแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) ดังนั้น กฟผ. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดย กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าแบบขายส่งให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (National Grid) ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ณ เดือนมีนาคม 2563 กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 50 แห่งโดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 15,425 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 33.8% ของกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้ในประเทศไทย ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือนั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศในสัดส่วน 53.7% และนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศมาเลเซียอีก 12.5%

เนื่องจาก กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กฟผ. จึงเป็นผู้บริหารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center -- NCC) เพื่อควบคุมกระแสไฟฟ้าให้มีเพียงพอสำหรับความต้องการไฟฟ้าของทั้งประเทศ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. นั้นล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน

ประวัติการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในไทยเป็นที่ยอมรับ

กฟผ. มีประวัติผลงานที่ได้รับการยอมรับจากประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทมากกว่า 50 ปี ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 7,652 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3,687 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4,022 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล 64 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีความเชี่ยวชาญในระดับสูงและมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย

รายได้ที่แน่นอนจากลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือ

กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตเองและจัดหามาได้ให้กับ กฟภ. 70% (กฟภ. ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” โดยทริสเรทติ้ง) และ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟน. (28%) ทั้ง กฟภ. และ กฟน. ต่างก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยด้วยเช่นกัน โดย กฟภ. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตต่างจังหวัด ในขณะที่ กฟน. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวง (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี)

ต้นทุนการลงทุนได้รับการชดเชยภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่บวกผลตอบแทน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลค่าไฟฟ้าในประเทศไทยและออกแบบโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยเงินลงทุนจากค่าไฟฟ้าและอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invested Capital -- ROIC) ที่ระดับ 5.63% ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะให้ กฟผ. มีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการลงทุนทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาเชื้อเพลิงหรือราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนจะมีการนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดค่าปรับปรุงเชื้อเพลิง หรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ก่อนที่จะกำหนดเป็นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไปด้วย โดย กกพ. จะคำนวณและประกาศการเปลี่ยนแปลงค่า Ft ในทุก 4 เดือน ดังนั้น กฟผ. จึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในระดับที่จำกัด

การใช้ไฟฟ้าจะลดลงในปี 2563 จากผลกระทบของโควิด-19

การบริโภคไฟฟ้าในประเทศไทยคาดว่าจะลดลงประมาณ 3% ในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะลดลง 5%-7% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลไทยจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การลดค่าไฟฟ้าและการยืดระยะเวลาการจ่ายชำระค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แม้มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ กฟผ. แต่ กฟผ. อาจจะต้องขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. และ กฟน. เพื่อช่วยลดภาระให้แก่รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งสำหรับปี 2563

นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง

กฟผ. มีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังโดยมีการดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีนโยบายสำหรับการรักษาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อรักษาวินัยทางการเงินให้มั่นคงอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย การรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Ratio) ที่ไม่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า เป็นต้น

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

กฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2562 กฟผ. มีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วรวมทั้งสิ้น 3.10 แสนล้านบาทซึ่งรวมภาระผูกพันในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน (หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงิน-โรงไฟฟ้า) จำนวน 2.40 แสนล้านบาทด้วย ทั้งนี้ กฟผ. มีโครงสร้างเงินทุนที่เข้มแข็งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 39.5% ณ สิ้นปี 2562

กฟผ. ยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรงอีกด้วย โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน กฟผ. มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระคืนในระยะ 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวและพันธบัตรรวมจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่

กฟผ. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟผ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟผ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนหนี้สิน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย

ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) นั้น โครงสร้างการจัดหาไฟฟ้าของประเทศไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ (Centralized Generation) ไปเป็นการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Distributed Generation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ ตลอดจนพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนไปสู่สังคมเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและเชื่อมต่อถึงกันผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อความต้องการไฟฟ้าที่จัดหาโดย กฟผ. ในระยะยาว ทั้งนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเองและ/หรือขายตรง (Independent Power Supply) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 17% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 จากประมาณ 13% ในปี 2561 ในขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะมีกำลังการผลิตลดลงเหลือ 24% ของกำลังการผลิตในประเทศไทยจาก 34% ในช่วงเดียวกัน แม้ว่าบทบาทของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงในอนาคต แต่ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดหาและดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศต่อไปในระยะยาว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าจะลดลง 3% ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1%-2% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565

• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.10-1.25 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

• ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.36 แสนล้านบาทในช่วงปี 2563-2565

• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่าในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟผ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบทบาทในอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทยของ กฟผ. ลดความสำคัญลงไปจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Rating Methodology for Government-Related Entities, 6 มิถุนายน 2560

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ