ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” เป็น “BBB” จาก “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 28, 2020 10:02 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ”Stable” หรือ “คงที่” โดยการเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ดีขึ้นในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อันดับเครดิต “BBB” ยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอซึ่งบริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement – PPA) ระยะยาวภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากกระบวนการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทที่ยังคงดำเนินอยู่

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริษัทได้นำซอฟต์แวร์ใหม่มาใช้ในการควบคุมระบบการดำเนินงานโรงไฟฟ้า รวมถึงมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบการบริหารเชื้อเพลิงใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2560 ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้าของบริษัทมีระดับความพร้อมจ่ายที่ดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 85%-88% ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวช่วยให้มีรายได้มั่นคง

รายได้ของบริษัทประมาณ 80%-90% มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ในการนี้ บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. รวม 296 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี หรือคิดเป็น 41% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 167.6 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 23% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) ให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่ 1 ปีถึง 19 ปีอีกด้วย ในขณะที่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าและไอน้ำในสัดส่วนที่เหลือ

ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. บริษัทจะได้รับการจ่ายค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment -- CP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment -- EP) จาก กฟผ. โดยค่าพลังไฟฟ้าจะสะท้อนต้นทุนการลงทุนและปรับตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนค่าพลังงานไฟฟ้านั้นจะสะท้อนค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตไฟฟ้า ในการนี้ กฟผ. จะซื้อไฟฟ้าจากบริษัทในอัตราขั้นต่ำที่ระดับ 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้ารายอื่นก็มีสัญญาที่ระบุปริมาณการสั่งซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจากบริษัทด้วยเช่นกัน

มีคุณสมบัติที่จะได้รับค่าไฟฟ้าภายใต้โครงการ FiT

โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การจำหน่ายไฟฟ้าภายใต้โครงการ Feed-in Tariff (FiT) และ บริษัทได้นำโรงไฟฟ้าเหล่านี้เข้าสมัครในโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 กำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายเล็กสามารถเลือกจำหน่ายไฟฟ้าโดยใช้อัตรา FiT ที่ 3.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ได้ ซึ่งบริษัทได้ยื่นความประสงค์ที่จะจำหน่ายไฟฟ้าโดยใช้อัตรา FiT สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทกำลังการผลิตรวม 116 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแล้ว เมื่อบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่กับ กฟผ. แล้วคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT จะช่วยให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าตามสัญญาสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นจะอ้างอิงกับราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันเตา ซึ่งเมื่อราคาเชื้อเพลิงอ้างอิงมีการปรับลดลง ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของบริษัทก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อระดับกำไรของบริษัท

โครงการ IPP มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer --- IPP) ของบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาหลังจากที่ล่าช้ามากว่า 10 ปีเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโครงการนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลให้สามารถเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติได้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 และบริษัทก็ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว โครงการ IPP นี้มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2570 ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 หลังจากนั้น บริษัทจะทำการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรวมถึงทำการจัดหาแหล่งเงินทุนต่อไป บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการนี้จำนวน 65% ในขณะที่สัดส่วนที่เหลือนั้นเป็นของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

โรงงานเอทานอลใช้วัตถุดิบได้หลากหลายขึ้น

ปัจจุบันโรงงานเอทานอลของบริษัทมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบมากขึ้นหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้มันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2561 การปรับปรุงนี้ช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการจัดการวัตถุดิบและช่วยลดต้นทุนในการผลิต โดยในปี 2562 โรงงานเอทานอลของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากประมาณ 17% ในปี 2561 ในขณะเดียวกัน บริษัทก็กลับมามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากโรงงานเอทานอลที่จำนวน 120 ล้านบาทในปี 2562 จากที่ขาดทุนอยู่ 57 ล้านบาทในปี 2561 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจเอทานอลมีอัตรากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 72% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ 73 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4.0-4.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2561 และปี 2562 จากระดับ 2.5-3.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2560 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นั้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่า 25% ในช่วงปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2563 จากที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ในระหว่างปี 2559-2560

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน การที่บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นนั้นได้ส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 4 เท่าในปี 2562-2563 เทียบกับระดับ 7-9 เท่าในปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับอัตราส่วนดังกล่าวให้ต่ำกว่า 4 เท่าได้ตลอดระยะเวลาประมาณการในปี 2563-2565 หากบริษัทสามารถรักษาระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อยที่ระดับ 85% ตลอดระยะเวลาประมาณการ

ภาระหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วลดลงประมาณ 16% จาก 1.91 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 เหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61.1% ณ เดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 68.8% ณ สิ้นปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2563-2565 ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.61 พันล้านบาทในปี 2563 เพื่อก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าและท่อไอน้ำเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยเงินลงทุนนี้คาดว่าจะลดลงสู่ระดับปกติที่ประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 60% ในช่วงปี 2563-2565

สภาพคล่องสามารถจัดการได้

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสมตลอดระยะเวลาประมาณการ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทจะมีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระจำนวน 4.26 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาวประมาณ 655 ล้านบาทและหุ้นกู้ประมาณ 3.61 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 1.42 พันล้านบาทและมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.1 พันล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนเหล่านี้เมื่อรวมกับเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7-3 พันล้านบาทต่อปีแล้วน่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ออกหุ้นกู้ชุดใหม่จำนวน 3.68 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายน 2563 จำนวน 3.01 พันล้านบาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 666 ล้านบาทนั้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 บริษัทมีแผนจะนำมารวมกับเงินสดจากการดำเนินงานเพื่อนำไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ NPS218A ก่อนกำหนดจำนวน 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 เพื่อนำมาใช้เตรียมชำระคืนเงินต้นที่เหลือของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคม 2564 อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• ระดับความพร้อมจ่ายโรงไฟฟ้าของบริษัทคาดว่าจะยังคงสูงกว่า 85%-86% ในช่วงระหว่างปี 2563-2565

• อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทใช้ตามอัตราค่าไฟฟ้าแบบเดิม

• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 3.8-4.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2565

• ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.61 พันล้านบาทในปี 2563 และ 700-800 ล้านบาทต่อปีระหว่างปี 2564-2565

• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 4 เท่าในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทและสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้หลังจากการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานโรงไฟฟ้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ความมีเสถียรภาพในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยลบที่มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงหรือโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

NPS209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,013.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB

NPS218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB

NPS242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,383.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB

NPS258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,298.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ