
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือนมิ.ย.68 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 มิ.ย.68 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 46.7 ลดลงจากระดับ 48.0 ในเดือนพ.ค. 68 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 46.7 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.9
- ภาคกลาง อยู่ที่ 46.2 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.5
- ภาคตะวันออก อยู่ที่ 50.2 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.3
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 45.3 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.0
- ภาคเหนือ อยู่ที่ 46.9 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.8
- ภาคใต้ อยู่ที่ 45.3 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.7

ปัจจัยลบ ได้แก่
- ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง สืบเนื่องจากเหตุการณ์คลิปเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย กับประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่มีเนื้อหากระทบต่อกองทัพ และอธิปไตยไทย
- ความกังวลต่อแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบของนโยบาย Trump 2.0
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา
- เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคมีการระมัดระวังการจับจ่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจที่อาจจะไม่เติบโต ซึ่งรายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก มีผลต่อกำลังซื้อในบางพื้นที่ต่างจังหวัดในระยะนี้
- ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ แก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.66 บาท/ลิตร จากเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 32.778 บาท/ลิตร และ 33.115 บาท/ลิตร
- ปัญหาเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่อาจจะสูงขึ้น
- สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
ปัจจัยบวก ได้แก่
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี และปรับขึ้นคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2568 อยู่ที่ 2.3% จากเดิม 1.3-2.0%
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว
- การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. 68 ขยายตัว 18.35% ที่มูลค่า 31,044.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก คงทรงตัวจากเดือนที่มาที่ระดับ 31.94 บาท/ลิตร
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสาคัญ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
- เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 32.934 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นพ.ค.68 เป็น 32.623 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นมิ.ย.68
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปถึงภาครัฐ ดังนี้
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มกาลังซื้อให้เกิดขึ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
2. แผนการเจรจาต่อรองภาษีกับประเทศมหาอำนาจ ที่มีผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
3. มาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ให้มีความสูญเสียเกิดขึ้น
4. การบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
5. การส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลัก และเมืองรองให้ต่อเนื่อง เพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่พื้นที่
6. มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
7. มาตรการทางการเงินที่ช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ช่วยดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย