ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” ที่ “A” หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 19, 2021 14:28 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?A-? โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัทอันเนื่องมาจากสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) รวมถึงผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศของบริษัทและการมีภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ช่วยลดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของภาระเงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนจำนวนมากได้

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะเป็นผู้นำตลาด

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินงานแล้วอยู่ที่ 2,959 เมกะวัตต์ (Megawatts Equity -- MWe) และหลังจากพัฒนาโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว กำลังการผลิตดังกล่าวของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 7,998 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตและโครงการใหม่ที่มีความเป็นไปได้หลายโครงการของบริษัท เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนามและโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้นำโครงการที่มีความเป็นไปได้เหล่านี้เข้ามารวมในประมาณการ

การลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

การลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวน 35 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วน 92% หรือมีขนาด 7,338 เมกะวัตต์ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 659 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (401 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (232 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่งในประเทศไทย (25 เมกะวัตต์)

โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) จำนวน 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 1,231 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-cycle) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) จำนวน 6 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 5,947 เมกะวัตต์ โดยได้รวมกำลังการผลิตที่เพิ่มเติมเข้ามาจากโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ 2 แห่ง คือ ?หินกอง พาวเวอร์? และ ?บูรพา พาวเวอร์? อีกจำนวน 875 เมกะวัตต์ด้วย โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นนั้นตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ภาคกลางและในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor -- EEC) จำนวน 7 โรง ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี อยุธยา ระยอง ราชบุรี และฉะเชิงเทรา

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัท ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญาที่ทำกับ กฟผ. มีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทตราบเท่าที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัท กฟผ. ก็ยังคงต้องจ่ายชำระในส่วนของค่า AP ให้แก่บริษัท ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP นั้นจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยสัญญา SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้

มีประวัติผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่น่าเชื่อถือ

คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการของบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี คณะผู้บริหารยังคงมีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารโครงการเช่นเดิม โดยทุกโครงการของบริษัทที่ปัจจุบันเปิดดำเนินงานแล้วนั้นล้วนพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาและงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงเกินกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

บริษัทบรรเทาความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการด้วยการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction -- EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง เช่น Toyo Engineering Corporation และ Mitsubishi Hitachi Power System (MHPS) ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าของบริษัทยังใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง อาทิ Siemens รวมทั้ง GE และ Mitsubishi เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างเหมาะสมราบรื่น นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long-term Service Agreements -- LTSA) และสัญญาจัดหาอะไหล่ระยะยาว (Long-term Parts Agreement -- LTPA) กับผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์อีกด้วย โดยสัญญาบริการต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งมีอายุเท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะช่วยสร้างความมั่นใจในการรับบริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้าและช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอะไหล่ต่าง ๆ ทั้งนี้ การมีสินทรัพย์โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและได้รับเงื่อนไขทางการค้าที่ดีจากผู้ผลิต นอกจากนี้ การมีโรงไฟฟ้า SPP ที่มีรูปแบบเหมือนกันรวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่แบบรวมศูนย์ยังช่วยให้บริษัทมีอะไหล่ที่เพียงพอและยังสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ

บริษัทมีการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท โดยบริษัทได้ริเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวม 401 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง (107 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 1 แห่ง (295 เมกะวัตต์) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนั้นเปิดดำเนินงานแล้วและมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็สูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ 50% (ระดับ P50) นอกจากประเทศเวียดนามแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทยังได้เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งหนึ่งที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้วในประเทศเยอรมนีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ 232 เมกะวัตต์อีกด้วย บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการในประเทศเยอรมนีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และคาดว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อพิจารณาจากประวัติผลการดำเนินงาน บริษัทน่าจะยังคงขยายการลงทุนในต่างประเทศต่อไปเพื่อสร้างโอกาสเติบโต อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในต่างประเทศน่าจะยังคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 15% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัทตามประมาณการของทริสเรทติ้ง

โครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศมักมีความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดนั้นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN) ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นยังไม่แข็งแรงเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศเวียดนามในบางจังหวัด เช่น บินห์ถ่วน (Binh Thuan) และนินห์ถ่วน (Ninh Thuan) นั้นยังต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าไม่ครบตามสัญญาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทุกแห่งเปิดดำเนินงานแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนในประเทศเวียดนามจะคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท และโครงการต่าง ๆ ของบริษัทในประเทศเวียดนามน่าจะมีความเสี่ยงจากการถูกตัดการรับซื้อไฟฟ้าไม่สูงนักเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งของโครงการ ในขณะที่ความเสี่ยงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเยอรมนีนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยพันธมิตรธุรกิจของโครงการนี้คือ ?rsted A/S ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเดนมาร์กนั้นเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในหลายประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศเยอรมนียังได้ให้การรับประกันราคารับซื้อไฟฟ้าในช่วง 9.5 ปีแรกของการดำเนินงานโรงไฟฟ้าและรับประกันราคาขั้นต่ำหลังจากนั้นจนถึงปีที่ 20 อีกด้วย

การขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

บริษัทกำลังขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership -- PPP) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจากกนอ. เป็นเวลา 30 ปีนับตั้งแต่งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2566

นอกจากโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แล้ว บริษัทยังกำลังพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยมีกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) เป็นผู้ดำเนินการอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้าจีพีซีซึ่งประกอบด้วยบริษัท รวมทั้ง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Co., Ltd. (CHEC) มีหน้าที่ในการออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการในส่วนของท่าเรือ F1 และ F2 โครงการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงด้านการตลาดเนื่องจากผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในการขนส่งสินค้า ในฐานะผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้

บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย (M6 และ M81) โดยมีกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวมกันประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาทเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ (ระยะที่ 1) รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (ระยะที่ 2) ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ จะไม่มีความเสี่ยงด้านอุปสงค์การจราจร เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คงที่หลังจากโครงการเปิดดำเนินงานในปี 2566-2567 และบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว เมื่อมองในภาพรวมแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

รายได้และกระแสเงินสดอยู่ในช่วงขาขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้และกระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเยอรมนีจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ซึ่งทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจนถึงระดับ 9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จากเกือบ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จากประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อพิจารณาจากประวัติผลงาน เนื่องจากกระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้า IPP และ SPP สามารถคาดการณ์ได้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แรงกดดันจากภาระหนี้จะลดลง

หนี้สินที่มีดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนขนานใหญ่ โดยนอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทยังได้ลงทุนซื้อหุ้นของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 14.4% อีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทได้มีการเพิ่มทุนจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาทก่อนการลงทุนดังกล่าว ซึ่งทำให้คลายความกังวลเกี่ยวกับระดับการก่อหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นไปได้

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ประมาณ 10 เท่าในปี 2563 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าในปี 2566 จากการมีกระแสเงินสดที่เพิ่มเข้ามาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเยอรมนี ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามนั้นได้รับเครดิตทางการเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่หลังจากโครงการได้เปิดดำเนินงานแล้วในปี 2564 การได้รับเครดิตทางการเงินดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ งบลงทุนรวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องจะยังคงบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้รวมกันจำนวน 5.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาทสำหรับเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติม

บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่าตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 1.6 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ต่อไป

สมมติฐานพื้นฐาน

? กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 9 หมื่นล้านบาทในปี 2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30%

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

? บริษัทได้รับเครดิตระยะยาวในการชำระเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่เปิดดำเนินงานแล้วจะเดินเครื่องอย่างราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 8 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจลดลงหากการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของบริษัทล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

GULF221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

GULF238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

GULF241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

GULF258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-

GULF261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-

GULF278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-

GULF291A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-

GULF308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ