ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “กฟภ.” ที่ “AAA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 7, 2021 11:02 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของ กฟภ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทย ?ในระดับสูง? และบทบาทที่สำคัญของ กฟภ. ในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านต้นทุนได้ และนโยบายทางการเงินที่รอบคอบของ กฟภ. รวมถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลไทยอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูง

ทริสเรทติ้งประเมินว่า กฟภ. มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยในระดับสูง โดย กฟภ. มีรัฐบาลถือหุ้น 100% โดยผ่านกระทรวงการคลังและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ส่วนคณะกรรมการของ กฟภ. และผู้ว่าการฯ นั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ของ กฟภ. นั้นมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบ ส่วนแผนค่าใช้จ่ายและการลงทุนของ กฟภ. นั้นจะขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ กฟภ. ยังต้องเสนอแผนการกู้เงินและการชำระคืนเงินกู้ให้แก่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สังกัดกระทรวงการคลังเพื่อการพิจารณาเห็นชอบอีกด้วย

กฟภ. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 (พ.ร.บ. กฟภ.) ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟภ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟภ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้

มีบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ

ทริสเรทติ้งมองว่า กฟภ. จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ไฟฟ้ารวมถึงตอบสนองความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 2 รายที่รับผิดชอบในการจัดส่งและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตภูมิภาคซึ่งครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี

ตาม พ.ร.บ. กฟภ. พ.ศ. 2503 ระบุว่า กฟภ. มีอำนาจในการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าและสายจำหน่ายไฟฟ้าเหนือหรือใต้พื้นที่ใด ๆ ได้โดยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้แก่เจ้าของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟภ. ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ

กฟภ. จำหน่ายไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 75% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทย โดยในปี 2563 กฟภ. ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 510,000 ตารางกิโลเมตรและมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 20 ล้านรายโดยประมาณ กฟภ. ดำเนินงานโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 830,530 วงจรกิโลเมตร รายได้ของ กฟภ. อยู่ที่ประมาณ 4.89 แสนล้านบาทและมียอดจำหน่ายไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 138,178 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยที่ กฟภ. ซื้อไฟฟ้าส่วนใหญ่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในเขตพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ

คาดว่าจะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนสำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

กฟภ. ยังคงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยมาตรการเหล่านี้ประกอบด้วย การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า มาตรการไฟฟ้าฟรี การลดค่าไฟฟ้า และการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ กฟภ. มีภาระค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสนับสนุนมาตรการดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 2.07 หมื่นล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ดี กฟภ. ได้รับเงินชดเชยซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดและส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ กฟภ. ฟื้นตัวจากที่มีผลขาดทุนในช่วงกลางปี 2563 กลับมาเป็นกำไรในช่วงปลายปี 2563

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 นั้น กฟภ. มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวน 2.33 หมื่นล้านบาทในการดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคโควิด19 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชดเชยเงินดังกล่าวให้แก่ กฟภ. เป็นจำนวนประมาณ 1.96 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือนั้น กฟภ. จะได้รับคืนหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประเมินผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่มีต่อผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากบทบาทที่สำคัญของ กฟภ. ในระบบจ่ายไฟฟ้าของประเทศ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟภ. จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนสำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคโควิด 19 ภายในปีนี้

การจำหน่ายไฟฟ้ามีกำไรที่คาดการณ์ได้

กฟภ. มีความเสี่ยงที่จำกัดจากความผันผวนของต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของต้นทุนในการซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะมีการส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้ค่าปรับปรุงเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดและจะประกาศค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน ซึ่งในช่วงปี 2557-2563 กฟภ. มีกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อไฟฟ้าและราคาขายไฟฟ้าอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 0.55-0.59 บาทต่อหน่วย

ผู้ใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผันตัวไปเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumer) การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอาจทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและผู้ผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ต่าง ๆ สามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ได้ในระยะยาว เนื่องจากผู้บริโภคจะหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง และจะลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจากระบบใหญ่ อย่างไรก็ตาม กฟภ. อาจจะมีรายได้จากค่าผ่านสายไฟฟ้า (Wheeling Charge) จากการที่ผู้ซื้อขายไฟฟ้าใช้สายส่งและสายจำหน่ายของ กฟภ. นอกจากนี้ กฟภ. ก็ยังอาจมีรายได้จากค่าสำรองพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากผู้ซื้อขายไฟฟ้าเอกชนดังกล่าวอาจต้องการสำรองไฟฟ้าจากระบบใหญ่เพื่อรองรับในช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้

อยู่ในช่วงการพัฒนาธุรกิจใหม่

เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานที่เข้าสู่ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Power Generation) กฟภ. อยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมที่จะขยายขอบเขตธุรกิจเพิ่มเติม จากธุรกิจหลักคือการซื้อและจำหน่ายไฟฟ้า โดยธุรกิจใหม่ ๆ ของ กฟภ. ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งนี้ กฟภ. มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคดิจิทัล (Digitalized Utility Provider) ภายในปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้ กฟภ. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการแก้ปัญหาไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงข่ายไฟฟ้าเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคตอันใกล้ด้วย ปัจจุบัน กฟภ. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโครงข่ายเมืองอัจฉริยะที่เมืองพัทยาให้เป็นโครงการนำร่อง โดย กฟภ. จะนำผลจากการพัฒนาโครงการนำร่องดังกล่าวมาวิเคราะห์และปรับปรุงเพื่อใช้กับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอนาคตต่อไป

มีนโยบายการเงินที่รอบคอบ

กฟภ. มีนโยบายทางการเงินที่รัดกุมรอบคอบ โดยมีเป้าหมายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 1.5 เท่ารวมถึงรักษาอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Raito) ไม่ให้ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ให้น้อยกว่า 1.5 เท่า นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีแนวปฎิบัติภายในองค์กรในการจัดสรรเงินสำรองสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ล่วงหน้า 3 ปีก่อนที่จะครบกำหนดอีกด้วย

มีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง

กฟภ. ยังคงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 กฟภ. มีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจำนวน 1.178 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากจำนวน 1.096 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ กฟภ. ยังคงอยู่ในระดับที่เข้มแข็งที่ระดับ 40.8%

นอกจากนี้ กฟภ. ยังคงมีสภาพคล่องที่เข้มแข็งอีกด้วย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 กฟภ. มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวม 1.46 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2567 ผลรวมของเงินสดและประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานของ กฟภ. เพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดจำนวน 5.5 พันล้านบาทถึง 1.04 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2567

เงินลงทุนได้รับการชดเชยผ่านโครงสร้างค่าไฟฟ้า

การกำหนดค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศได้อย่างมั่นคง กกพ. จึงได้มีการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าโดยให้ครอบคลุมทั้งเงินลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าและการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับทั้งประเทศ รวมทั้งให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพียงพอสำหรับรัฐวิสาหกิจการด้านไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งอีกด้วย

ทั้งนี้ กฟภ. มีแผนลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนล้านบาทในช่วงปี 2564-2567 โดยส่วนใหญ่จะใช้ไปในการลงทุนขยายระบบจำหน่ายเป็นหลักเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงเพื่อปรับปรุงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่สู่การเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? การจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. จะเติบโตประมาณ 2.0%-2.8% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2567

? กฟภ. จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะอยู่ที่ระดับ 4.1-4.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 แสนล้านบาทในระหว่างปี 2564-2567

? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในระดับ 40%-47% ตลอดช่วงประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟภ. จะยังคงดำรงบทบาทที่มีความสำคัญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ในต่างจังหวัดของประเทศและความเชื่อมโยงในระดับสูงที่ กฟภ. มีกับรัฐบาลจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานภาพของ กฟภ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญด้านพลังงานซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูงนั้นเปลี่ยนแปลงไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (PEA)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ