ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ที ลีสซิ่ง” ที่ “BBB” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 28, 2021 13:57 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มสถานะเครดิตขึ้นมา 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ ?bbb-? โดยการยกระดับสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้ม ?Stable? จากทริสเรทติ้ง)

อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่เพียงพอในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทประกอบไปด้วยหนี้เสียที่อยู่ในระดับสูงของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่อ่อนไหวง่ายในสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อันดับเครดิตของบริษัทยังถูกกดดันจากระดับความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนกว่าคู่แข่ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ เอ็ม บี เค

อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นมา 1 ขั้นจากสถานะการเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของบริษัท เอ็ม บี เค โดยบริษัท เอ็ม บี เค เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท และมีการควบคุมบริษัทโดยตรงผ่านคณะกรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งของคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจากทางบริษัท เอ็ม บี เค การควบคุมดูแลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทนั้นทำผ่านการประชุมคณะกรรมการเป็นประจำในทุก ๆ เดือน

บริษัทได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากบริษัท เอ็ม บี เค ผ่านการเพิ่มทุนและเงินกู้ยืมระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ บริษัทได้รับการเพิ่มทุนจำนวน 500 ล้านบาทในปี 2561 และจำนวน 2.5 พันล้านบาทในปี 2562 โดยในเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินกู้คงค้างกับบริษัท เอ็ม บี เค อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากบริษัท เอ็ม บี เค ในอนาคตหากมีความจำเป็น

มีฐานทุนที่แข็งแกร่งและมีหนี้ในระดับต่ำ

ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทถือเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต ฐานทุนของบริษัทปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากได้รับการเพิ่มทุนจำนวน 2.5 พันล้านบาทจากบริษัท เอ็ม บี เค ในปี 2562 ทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงปรับตัวดีขึ้นเป็น 26.1% ณ สิ้นปี 2562 จาก 9.9% ณ สิ้นปี 2561 โดย ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ 29% (ปรับรายการระหว่างกัน) การปรับตัวดีขึ้นนั้นเกิดจากสินเชื่อรวมคงค้างที่ปรับตัวลดลงประมาณ 5% ในปี 2563 และมีกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีแผนการลดฐานทุนลงจำนวน 1.1 พันล้านบาทในช่วงสิ้นปี 2564 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการฐานทุนของบริษัท แต่บริษัทก็ยังคงมีฐานทุนในระดับที่แข็งแรงหลังจากการลดทุนแล้ว ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่า ด้วยกลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวัง การลดทุนนี้จะทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงเหลือประมาณ 23%

ในด้านการก่อหนี้ของบริษัท การเพิ่มทุนในปี 2562 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเป็น 0.99 เท่า ณ สิ้นปี 2562 จาก 4.19 เท่า ณ สิ้นปี 2561 โดย ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 0.8 เท่า หลังจากบริษัทลดทุนในปลายปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 เท่า ซึ่งต่ำกว่าสัญญาเงินกู้ที่ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้เกิน 2 เท่า

สถานะทางตลาดระดับปานกลาง

สินเชื่อรวมของบริษัทในปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ใน 5 อันดับแรกของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ตามฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทมีการเติบโตของสินเชื่ออย่างสม่ำเสมอตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นอยู่ที่ 25.3% จากระดับ 3 พันล้านบาทในปี 2559 การเติบโตในปี 2560-2562 นั้นมาจากสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 บริษัทได้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการเติบโตมาให้ความสำคัญกับรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กลงและค่อย ๆ ลดสัดส่วนบิ๊กไบค์ลงเพื่อปรับอัตราผลตอบแทนรวมให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 การเติบโตของสินเชื่อในส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กของบริษัทมีอัตราการเติบโตเพียง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท (งบการเงินที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ) ปรับตัวลง 4% เทียบกับสิ้นปีก่อนหน้าอันเป็นผลจากกลยุทธ์การอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวังเนื่องจากสถานการณ์ไม่แน่นอนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในด้านกระจายตัวของธุรกิจ บริษัทค่อนข้างมีการกระจุกตัวของพื้นที่ โดยบริษัทมีสินเชื่อที่อนุมัติในกรุงเทพคิดเป็นประมาณ 80% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด

ความสามารถในการทำกำไรค่อย ๆ ปรับดีขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของอันดับเครดิตของบริษัท ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางโดยประเมินจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.2% ในปี 2563 (ปรับรายการระหว่างกัน) ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจาก 0.7% ในปี 2562 และ 1.6% ในปี 2562 และยังมีอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งที่ประมาณ 4% ผลตอบแทนที่ต่ำกว่านั้นมาจากค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของสินเชื่อของบริษัทที่อยู่ประมาณ 23% ซึ่งต่ำกว่าของคู่แข่งที่ประมาณ 28%-30% โดยอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่านั้นเกิดจากสัดส่วนสินเชื่อในรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 7%-8% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กที่มีอัตราผลตอบแทนมากกว่า 20% และรวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาที่สูงในตลาดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท ในปี 2563 บริษัทมุ่งเน้นไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กที่มีผลตอบแทนมากกว่าและค่อย ๆ ลดสัดส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ลง ในระยะยาว กลยุทธ์ดังกล่าวน่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมและกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น

แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ

บริษัทมีการกระจายตัวของแหล่งเงินกู้มากขึ้นจากสถาบันการเงินหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินรวมกับสถาบันการเงินทั้งหมดจำนวน 1.2 พันล้านบาท และมีเงินกู้ระยะสั้นคงค้างกับทางบริษัท เอ็ม บี เค อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 2.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ถึงแม้ว่าเงินกู้จากบริษัท เอ็ม บี เค น่าจะมีทิศทางที่ลดลงในอนาคตจากการกระจายตัวของแหล่งเงินกู้ที่มากยิ่งขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็ยังมองว่าบริษัท เอ็ม บี เค จะยังคงเป็นผู้ให้กู้ยืมในเวลาที่บริษัทมีความจำเป็น ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการชำระคืนก่อน

ทริสเรทติ้งมองว่าสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี และกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับรวมทั้งเงินกู้จากบริษัท เอ็ม บี เค จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอสำหรับเงินกระแสเงินสดออกในแต่ละเดือน

ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่มากขึ้น

คุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังคงเปราะบางและเป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งหมดรวมไปถึงบริษัทเองด้วย ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.38% จาก 4.67% ณ สิ้นปี 2562 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและกระทบต่อเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ของบริษัทที่ไปมุ่งเน้นที่รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กซึ่งปกติแล้วมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มลูกค้ารถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพสินเชื่อและการมุ่งเน้นตลาดภายในกรุงเทพมหานครซึ่งบริษัทมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งจะช่วยลดผลกระทบหนี้เสียได้บางส่วนในระยะกลาง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัท (งบการเงินที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ) ลดลงเหลือ 4.27% เนื่องจากบริษัทปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นในช่วงมีการระบาดของโรคโควิด 19

ณ สิ้นปี 2563 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 171% จาก 106% ณ สิ้นปี 2562 การตั้งสำรองมากขึ้นนั้นมาจากการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ทำให้ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.7% ในปี 2563 จาก 5.2% ในปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับ 170%-180% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าตามสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนด้านเครดิตถัวเฉลี่ยประมาณ 7%-8%

ผู้ประกอบการรายใหม่จะเพิ่มแรงกดดันต่อผลตอบแทนและคุณภาพสินทรัพย์

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยลดลงถึง 11.8% ในปี 2563 ซึ่งส่งผลทำให้สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้ง 9 รายในฐานข้อมูลทริสเรทติ้งลดลง 2% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าการเติบโตของยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่ง แต่การอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังคงมีความระมัดระวังอันเนื่องมาจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ยอดสินเชื่อใหม่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแผนการส่งเสริมการขายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยของผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่การแข่งขันที่รุนแรงก็น่าจะสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของทั้งอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้

? สินเชื่อคงค้างของบริษัทจะยังอยู่ในระดับเดิมในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีในปี 2565-2566

? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับมากกว่า 20%

? อัตราผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%

? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ในระดับ 7%-8%

? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 40%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ผลประกอบการ คุณภาพสินทรัพย์ และระดับการก่อหนี้ไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับการปรับความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้น โดยยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้และมีฐานทุนที่แข็งแรง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทปรับตัวลดลงจากการที่กำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% หรือความเพียงพอของเงินทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากสถานะเครดิตของบริษัท เอ็ม บี เค ถูกปรับลดลงมากกว่า 1 ขั้น หรือหากทริสเรทติ้งมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองความสำคัญของบริษัทต่อบริษัท เอ็ม บี เค ที่ลดลงก็อาจเป็นเหตุผลทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท ที ลิสซิ่ง จำกัด (TLS)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ