ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่ที่เกิดจาก การควบรวมกิจการระหว่างอดีต “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” และ “บ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” ที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 1, 2023 18:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะเครดิตของบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เดิมก่อนการควบรวมกิจการ (TRUEE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สายและตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของโครงข่ายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวนคลื่นความถี่ในการให้บริการที่หลากหลาย และการมีแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงการผสานพลังทางธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ภาระหนี้ทางการเงินที่สูงของบริษัท และความเสี่ยงในการบูรณาการธุรกิจ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย

จากการเป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการ สินทรัพย์และการดำเนินงานของบริษัทจึงมาจากผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่เดิม 2 รายคือ TRUEE และ DTAC ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2566 กรณีดังกล่าวทำให้ TRUE กลายเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งมากในธุรกิจโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลของประเทศไทยด้วยการมีช่องทางธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งนี้ บริการของบริษัทครอบคลุมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก (Pay-TV) ธุรกิจโทรทัศน์ดิจิทัลและการเผยแพร่เนื้อหาความบันเทิง ตลอดจนธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล

บริษัทมีสินทรัพย์ที่เกิดจากการควบรวมกิจการทั้งสิ้นประมาณ 8 แสนล้านบาทซึ่งรวมถึงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ของทั้งสองบริษัท คลื่นความถี่ที่หลากหลาย ตลอดจนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่สูงกว่า 8 หมื่นล้านบาทด้วย ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการควบรวมธุรกิจจะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย โดยก่อให้เกิดความครอบคลุมของตลาดและฐานลูกค้าที่กว้างขวาง เครือข่ายการดำเนินงานที่กว้างใหญ่ และจำนวนคลื่นความถี่ที่หลากหลาย ทริสเรทติ้งเห็นว่าการมีขอบเขตธุรกิจขนาดใหญ่เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพราะจะช่วยให้สามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่องในโครงข่าย คลื่นความถี่ และมีความพร้อมในการเข้าสู่การให้บริการในระบบดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

ด้วยฐานลูกค้าที่กว้างขวางและสินทรัพย์การดำเนินงานขนาดใหญ่จากผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายเดิม ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการประหยัดจากขนาดและการผสานพลังทางธุรกิจภายในกลุ่ม

เป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

จากการควบรวมกิจการ บริษัทจึงกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทย โดยการควบรวมกิจการในครั้งนี้ทำให้ตลาดเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เพียง 2 รายคือ TRUE และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS)

บริษัทมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่จำนวน 55 ล้านราย ซึ่งเกิดจากการรวมลูกค้าของ TRUEE เดิมที่มีลูกค้าอยู่จำนวน 34 ล้านรายและลูกค้าของ DTAC อีกจำนวน 21 ล้านราย ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 54% ซึ่งสูงกว่า AIS ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 46% ในแง่ของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge -- IC) นั้น ส่วนแบ่งรตลาดของ TRUE คิดเป็นสัดส่วน 53.6% โดยเทียบกับ AIS ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.4%

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในด้านบริการสื่อสารแบบไร้สายเอาไว้ได้โดยมองว่าคลื่นความถี่ที่บริษัทมีเป็นจำนวนมากนั้นเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิงกลยุทธ์ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการให้บริการข้อมูลความเร็วสูงให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงใช้ชื่อแบรนด์ทั้ง ?TRUE? และ ?DTAC? ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า โดยแบรนด์ทั้งสองนี้เป็นที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคและคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แข็งแกร่งคือ กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) รวมทั้ง Telenor ASA (Telenor) และบริษัทที่เกี่ยวข้องซึ่งต่างถือหุ้นในสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของบริษัท นอกจากนี้ ยังมี China Mobile International Holdings Ltd. ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 10% อีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานของบริษัทจะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ตลอดจนจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารแบบไร้สายของ Telenor ด้วย

การแข่งขันยังคงรุนแรง แต่น่าจะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น

ตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเติมเงินนั้นได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเปราะบาง รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการแข่งขันที่รุนแรง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue per User -- ARPU) ทั่วทั้งอุตสาหกรรมลดลงในปี 2565

แม้ว่าประเทศไทยจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง แต่ตลาดในปี 2566 ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในตลาดจะยังคงรุนแรงต่อไปแต่น่าจะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากการควบรวมกิจการจะทำให้ตลาดเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอุปสงค์ในการใช้บริการด้านข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งมีราคาไม่แพงได้ง่ายขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่ม ARPU ในช่วงเวลาเดียวกันได้

ความท้าทายในการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก

บริษัทเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 37.5% โดย TRUEE มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ภายใต้โครงข่ายของบริษัทที่จำนวนประมาณ 5 ล้านคนในปี 2565 การเติบโตเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านและการรับชมเนื้อหาความบันเทิงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ARPU ในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้ให้บริการใช้การลดราคาเป็นเครื่องมือในการขยายและรักษาฐานลูกค้า ดังนั้น การแข่งขันในด้านราคาจึงมีความรุนแรงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่การให้บริการขยายเข้าไปใหม่

ทริสเรทติ้งคาดว่าการควบรวมธุรกิจในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้ประกอบการสำคัญ 2 รายคือ AIS และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) ที่กำลังดำเนินการอยู่จะทำให้เกิดผู้นำตลาดรายใหม่โดย AIS มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 13% ในขณะที่ 3BB มีส่วนแบ่ง 28% ในขณะที่ TRUE นั้นมีเป้าหมายที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยการเพิ่มคุณภาพในการให้บริการและเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้า รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมเนื้อหาสาระความบันเทิงที่มีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการให้บริการแบบคอนเวอร์เจนซ์ (Convergence Service) ที่รวมบริการที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

ในส่วนโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกนั้นยังมีแนวโน้มธุรกิจที่ไม่ดีท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวได้แม้ว่าจะมีปัจจัยผลักดันในเชิงบวกจากกลุ่มลูกค้าโรงแรมก็ตาม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกจะยังคงเป็นบริการหลักที่รวมอยู่กับบริการสื่อสารแบบไร้สายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งเป็นกลยุทธ์การนำเสนอชุดบริการเหมารวมแบบคอนเวอร์เจนซ์ของบริษัท

การผสานพลังทางธุรกิจต้องใช้เวลาในการที่จะบรรลุผล

ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นและความหลากหลายของพื้นที่ดำเนินธุรกิจน่าจะช่วยขยายฐานรายได้และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทได้ โดย TRUE จะมีบริการและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายซึ่งสามารถสร้างยอดขายจากผลิตภัณฑ์หรือบริการระหว่างหมวดหมู่และเพิ่มยอดขายเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าในกลุ่มของบริษัท อย่างไรก็ตาม ARPU ของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากมาตรการเยียวยาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 1.96-2.01 แสนล้านบาทต่อปี

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการผสานพลังทางธุรกิจและการลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาดและการใช้สินทรัพย์และบริการร่วมกันภายในกลุ่มให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการผสานพลังทางธุรกิจจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและอัตรากำไรให้แก่บริษัทได้ หากการบูรณาการและการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของโครงข่ายที่จะก่อให้เกิดบริการที่มีคุณภาพสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยทริสเรทติ้งเห็นว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนน่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนแรก ๆ ที่จะสามารถปรับลดลงได้เนื่องจากบริษัทมีโครงข่ายการดำเนินงานที่กว้างขวางอยู่แล้ว

ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลง โดยการใช้โครงข่ายเดิมของทั้งสองบริษัทที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยเทคโนโลยี เทคนิค และเครื่องมือต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโครงข่ายโดยรวมอีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลและประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย นอกจากนี้ ร้านค้าที่ให้บริการและช่องทางการจัดจำหน่ายก็สามารถรวมเข้าด้วยกันซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเปิดร้านใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การผสานพลังด้านต้นทุนอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังได้แก่ การรวมศูนย์ระบบการจัดซื้อซึ่งจะทำให้มีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการผสานพลังทางธุรกิจและการประหยัดต้นทุนที่คาดไว้นั้นจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการกว่าจะบรรลุผล โดยบริษัทยังจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งรวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่ซ้ำซ้อน การบูรณาการกระบวนการทำงาน ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ ความผูกพันกับลูกค้า การจัดการองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และหน่วยงานสนับสนุนภายในบริษัท เป็นต้น โดยทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการปรับโครงข่ายและบริการในช่วงแรก ๆ ของการบูรณาการซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี

ในอนาคตความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มจะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุน การปรับปรุงการใช้ประโยชน์สูงสุดของสินทรัพย์ และการบรรลุผลของการผสานพลังทางธุรกิจ ในการนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับปี 2566-2568 คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 8.2-9.8 หมื่นล้านบาทต่อปีและบริษัทจะมีอัตรา EBITDA ต่อรายได้รวม (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 42%-49% โดยที่กระแสเงินสดจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการในอีก 2-3 ปีข้างหน้าและคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 5.8-7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

?

มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ผลจากการควบรวมกิจการทำให้สินทรัพย์ทั้งหมดและหนี้สินคงค้างของ TRUEE และ DTAC ถูกโอนมาเป็นของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากความจำเป็นในการใช้เงินลงทุนสำหรับโครงข่ายและการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามกำหนด ทั้งนี้คาดว่าเงินลงทุนจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยจะอยู่ในช่วง 3.4-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอีกประมาณปีละ 1.5-2.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันอีกด้วย ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 85% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568

ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจาก EBITDA เพิ่มขึ้นเนื่องจากการประหยัดต้นทุนตามที่คาดการณ์ไว้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6.4 เท่าในปี 2566 และจะค่อย ๆ ลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 5.3 เท่าในอีก 2 ปีหลังจากนั้น ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ในช่วง 11%-14% ในช่วงเวลาเดียวกัน

โครงสร้างหนี้

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนในสัดส่วน 47% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งน้อยกว่าระดับ 50% ตามที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง ดังนั้นทริสเรทติ้งจึงจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้

? รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเติบโตเล็กน้อยในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

? EBITDA Margin จะยังคงอยู่ที่ระดับ 42%-49%

? เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.4-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ขยายโครงข่าย

? ภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ได้และคาดหวังว่าการบูรณาการของการดำเนินงานภายในกลุ่มจะดำเนินไปได้ด้วยดีโดยไม่ทำให้ต้นทุนหรือเงินลงทุนสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้าโดยที่ EBITDA และหนี้สินทางการเงินจะอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในระยะใกล้เนื่องจากความเสี่ยงจากการบูรณาการทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จซึ่งส่งผลทำให้ระดับ EBITDA สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งระดับหนี้สินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาด หรือตำแหน่งทางการตลาดแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TRUE237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,394.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

TRUE238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,747.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

TRUE239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

TRUE23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,438.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

TRUE245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,415.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,841.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE248B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 605.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,325 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE24OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,212.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,268.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE24NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 605.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TRUE251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,994.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE251B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,971.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,207.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,575.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE25OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,247.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,486.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE25NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,998.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

TRUE261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,130.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE261B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,912.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,864.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE263A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,412.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE268A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,689.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE26OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,854.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,805.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE26NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,142.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

TRUE272A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,636.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,656.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,958.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE27OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,116.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,062.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE27DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,855.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

TRUE288A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,459.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+

TRUE28OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,184.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ