บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (BMWL) เป็น “AA+” จาก “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้คือ BMW AG (กลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู) ที่ลดต่ำลงเนื่องจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลง โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงประกอบกับการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและมูลค่ารถยนต์มือสองที่ตกลงทำให้ผลประกอบการของกลุ่มในไตรมาสที่ 3 ลดลงต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดสำคัญๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และบางประเทศในแถบยุโรปจะเป็นปัจจัยลบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูในอนาคตอันใกล้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้จากกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู ที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับ “A/Stable” จากแสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และ “A2/Negative” จากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (มูดี้ส์) อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ราคาแพง ตลอดจนชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู (บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และโรลสรอยซ์) ความสามารถในการผลิตสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และกระแสเงินสดที่เพียงพอของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู
การค้ำประกันหุ้นกู้โดยกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูนี้อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมัน โดยบริษัทแม่ผู้ค้ำประกันตกลงให้การค้ำประกันเต็มจำนวนสำหรับหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบภาระเงินต้น ดอกเบี้ยจ่าย และหนี้อื่นใดที่เกิดขึ้นภายใต้หุ้นกู้ดังกล่าว ทั้งนี้ ภาระการค้ำประกันของผู้ค้ำประกันมีสถานะทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่นๆ ของผู้ค้ำประกันที่ออกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเงื่อนไขในการชำระหนี้ทุกประการจะชำระเป็นเงินบาทเต็มจำนวนโดยผู้ค้ำประกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” ของตราสารหนี้ของ BMWL สะท้อนถึงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจทำให้ผลประกอบการของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันลดลงต่อไปในระยะสั้นถึงปานกลาง ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ ชะลอตัวอาจชะลอการเติบโตของความต้องรถยนต์ราคาแพง ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Subprime) ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็คาดว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู ดังนั้น จึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เหมือนเดิมในระยะสั้นถึงปานกลาง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประมาณการ รายได้รวมของกลุ่มลดลง 8.6% ในขณะที่รายได้ของกลุ่มธุรกิจรถยนต์ลดลงกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูลดลงอย่างมากเป็น 3.1% จาก 7.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีของกลุ่มธุรกิจรถยนต์ลดลงเป็น 1.3% จาก 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนของเงินทุนจากการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมก็ปรับลดลงจาก 1,517 ล้านยูโรในไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ 1,238 ล้านยูโร และ 636 ล้านยูโรในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 กลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูจำเป็นต้องกันสำรองพิเศษจำนวน 1,037 ล้านยูโรไว้สำหรับมูลค่าคงเหลือของรถยนต์มือสองที่ตกลงและหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไรของกลุ่มอย่างมาก ผลประกอบการของทั้งกลุ่มธุรกิจการเงินและกลุ่มธุรกิจรถยนต์คาดว่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดังนั้น โอกาสที่กลุ่มจะบรรลุเป้าหมายอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อรายได้ในปี 2551 ที่ 4% นั้นจึงค่อนข้างยาก