บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่เป็นที่ยอมรับ และความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอของธนาคาร ทั้งนี้ ฐานสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างมั่นคงสะท้อนกลยุทธ์ที่เน้นธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพื่อทดแทนธุรกิจการบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องที่ลดขนาดลงเรื่อยๆ ธนาคารมีเงินทุนสำรองในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องโดยเห็นได้จากการที่อัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (ชั้นปกติ ชั้นสงสัย และชั้นสงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากระดับ 12.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เป็น 9.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ในขณะเดียวกัน สัดส่วนสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งจัดว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดก็ลดลง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสถานะการเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีจำนวนสาขาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในการระดมเงินทุนต้นทุนต่ำจากประชาชน ด้วยรูปแบบการเป็นธนาคารขนาดเล็กมีผลทำให้ธนาคารมีโครงสร้างสินทรัพย์ที่ไม่กระจายตัวซึ่งจะจำกัดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว นอกจากนี้ ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารขนาดเล็กอาจกระทบต่อการขยายธุรกิจและการทำกำไรของธนาคารในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการทำกำไรภายใต้ภาวะที่ผันผวนของธุรกิจการเงิน การมีโครงสร้างธุรกิจที่เป็นธนาคารขนาดเล็กซึ่งไม่ซับซ้อนเหมือนสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทำให้ธนาคารเผชิญกับแรงกดดันที่น้อยกว่าหากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยลงไปมากกว่านี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีเงินกองทุนที่เพียงพอจะรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลดมูลค่าสินทรัพย์จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม หากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ เดือนกันยายน 2551 ธนาคารเกียรตินาคินมีมูลค่าสินเชื่อกับ 79,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% จาก 66,255 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งคิดเป็น 32% หรือเท่ากับ 55,747 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 จาก 42,794 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ในขณะที่สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยลดลง 2% จากมูลค่าสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 70% เพิ่มขึ้นจาก 65% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่จะทดแทนธุรกิจการบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องและสินทรัพย์รอการขายของธนาคารที่จะทยอยลดขนาดลงจนหมดภายใน 3-8 ปีข้างหน้า สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงสุดมีสัดส่วนเท่ากับ 21% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือคิดเป็น 16% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ลดลงจาก 26% และ 19% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ธุรกิจหลักทั้ง 3 ประเภทของธนาคาร (การบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย) ช่วยสร้างรายได้และคงอัตราผลตอบแทนในระดับสูงให้แก่ธนาคารมาโดยตลอด
ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (ชั้นปกติ ชั้นสงสัย และชั้นสงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมลดลงอย่างมากจากระดับ 14.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เป็น 12.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 และ 9.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 อัตราส่วนดังกล่าวนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับ 7.6% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้รับผลกระทบจากสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างมาก โดยธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วน 71% ของฐานสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด (5.3 พันล้านบาทจากทั้งหมด 7.4 พันล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2551) และเท่ากับ 37% ของสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เนื่องจากธนาคารมีรูปแบบธุรกิจบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องหรือสินเชื่อที่ซื้อมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และกรมบังคับคดี ทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 14.2% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าระดับ 12.9% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารเกียรตินาคินมีสัดส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่ากับ 111% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่งที่ระดับ 140% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีแผนการเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นซึ่งจะกระทบต่อรายได้สุทธิของธนาคารในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งที่ระดับ 15.34% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 การมีนโยบายปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยนั้น ธนาคารจำเป็นจะต้องดำรงเงินกองทุนและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับความสูญเสียที่คาดไม่ถึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต — จบ