เลือกตั้ง'62: 5 พรรคการเมืองดีเบตนโยบายพลังงาน-บทบาทปตท.-ความจำเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

ข่าวการเมือง Wednesday March 13, 2019 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน จัดดีเบตส่องนโยบายพลังงาน 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายสันติ กีรนันท์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่ และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย บทบาทปตท. และการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

*พรรคพลังประชารัฐ เน้นพัฒนาพลังงานทดแทน

นายสันติ กีรนันท์ กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า นโยบายด้านพลังงานของพรรคเน้นความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ ให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงด้านพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน พร้อมทั้งพัฒนาด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพืชทางเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง อ้อย โดยเฉพาะในส่วนของปาล์มน้ำมัน พรรคมีนโยบายที่จะส่งเสริมเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล ซึ่งอาจต้องมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษีให้กับภาคเอกชน รวมถึงเดินหน้าวางโรดแมพผลักดันเรื่องรถอีวีในอีก 5 ปีข้างหน้า ทดแทนการใช้รถไฮบริดในอนาคตต่อไป

ขณะที่บทบาทของบมจ.ปตท. (PTT) หลังการเลือกตั้งยังต้องอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อาจจำเป็นต้องปรับปรุงคณะกรรมการที่กำกับดูแลด้านพลังงานให้มีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมทั้งเห็นว่า ปตท.ต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก ปตท.จึงควรมีนวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยงข้องกับพลังงานด้วย

ส่วนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ นายสันติ มองว่า ในปัจจุบันมีหน่วยงานด้านพลังงานมากเกินไป ซึ่งเกรงว่าจะเกิดความทับซ้อนในการทำงาน จึงเห็นว่า ควรจะมีคณะกรรมการที่เป็นองค์กรอิสระขึ้นมา 1 ชุดที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงพลังงาน แต่เป็นการรวบรวมจากภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และภาคประชาชนในการเข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน

*พรรคประชาธิปัตย์ชูตรึงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงนโยบายพลังงานของพรรคว่า พรรคให้ความสำคัญกับส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและทำให้คนไทยได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง พรรคมีนโยบายที่ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท รวมถึงตรึงราคาก๊าซหุงต้มด้วย พร้อมทั้งประกันราคาปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4 บาท ผลักดันการผลิต B7 ไปสู่ B10

ขณะที่บทบาทของบมจ.ปตท. (PTT) หลังการเลือกตั้งนั้น ต้องทำให้ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ และต้องส่งเสริมให้ไปลงทุนในด้านพลังงานไฟฟ้า และอีวี รวมถึงพลังงานสะอาด รวมถึงในฐานะที่ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ ต้องให้ปตท.ลงทุนในด้านพลังงานทางเลือก มากกว่าจะลงทุนเฉพาะด้านน้ำมันและก๊าซเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งต้องปรับรูปแบบปตท.และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ให้ประชาชนเกิดความไว้ใจ และหาแนวทางให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน

*พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอลดราคาน้ำมัน 5 บ./ลิตร-ยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคชูนโยบายที่จะลดราคาน้ำมัน 5 บาทต่อลิตร ปรับโครงสร้างพลังงานและยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ยกเลิกสัญญาด้านพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศ ส่งเสริมพืชการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ทั้งอ้อยและปาล์มน้ำมัน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ถูกลง และส่งเสริมพลังงานลมและพลังงานน้ำ

ขณะที่บทบาทของปตท. หลังการเลือกตั้ง นพ.ระวี กล่าวว่า ปตท.ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรและคืนกำไรให้กับประชาชนมากขึ้น พร้อมกับเห็นด้วยที่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% แต่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ไม่เกิดการคอร์รัปชั่น

*พรรคอนาคตใหม่เน้นพลังงานทดแทน-พลังงานทางเลือก

ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานของพรรคว่า พรรคเน้นการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการเปลี่ยนโหมดการเดินทางจากรถส่วนตัวมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบรางและรถเมล์ไฟฟ้าเป็นหลัก พร้อมกับมีนโยบายให้เงินทุนสนับสนุนให้กับอาคารที่ปลูกสร้างใหม่ที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน รวมถึงการให้สิทธิ์ประโยชน์ให้กับโรงงานที่เน้นการประหยัดพลังงาน

อีกทั้งเห็นว่า ควรมีการปรังปรุงการตั้งเป้าการใช้การส่งเสริมพลังงานทดแทน ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมโรงงานชีวมวลที่ผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งกองทุน EIA

*พรรคภูมิใจไทย หนุนผลักดันพืชพลังงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายนำพืชเศรษฐกิจมาทำเป็นพลังงาน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งหากได้เป็นรัฐบาล จะมีการแผนงานสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนปีละ 25% ภายใน 4 ปีทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตกระแสไฟฟ้า ให้มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ต้องมีการออกกฏหมายในลักษณะเดียวกันกับพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล เพื่อมีส่วนช่วยในการกำหนดโครงสร้างราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าวปาล์ม ยางพารา และมันสำปะหลัง ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเชื่อว่าการผลักดันพืชมาใช้เป็นพลังงานทดแทนจะมีส่วนช่วยลดปัญหาความยากจนได้ด้วย

ขณะที่บทบาทของบมจ.ปตท. หลังการเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปตท.ต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายใช้พลังงานทดแทนปีละ 25% ภายใน 4 ปีให้สำเร็จ และให้ปตท.สนับสนุนภาคเอกชนที่ลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตรมาทำเป็นพลังงานทดแทน

ส่วนมุมมองเรื่องการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ นายศักดิ์สยาม มองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการตั้งองค์กรใดขึ้นมาคือ เรื่องของธรรมาภิบาล ซึ่งมองว่า เรื่องนี้อาจไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันก็มีองค์กรที่คอยตรวจสอบอยู่มากพอสมควร ประกอบกับนโยบายของพรรคที่เน้นการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาทำเป็นพลังงาน ซึ่งไม่ได้มุ่งในเรื่องแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เน้นให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ