กลุ่มสื่อตะวันออกฯ จี้ รฟท.เร่งสรุปเอกชนลงทุนรถไฟปีดเชื่อม 3 สนามบิน-ค้านรับข้อเสนอกลุ่มซีพี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2019 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มสื่อตะวันออกรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นสื่อมวลชนในจังหวัดชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา เข้ายื่นหนังสือต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้เร่งสรุปว่าภาคเอกชนรายใดจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากปรากฎว่าการเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) ยังไม่มีข้อสรุปแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 4 เดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนลงนามในสัญญาได้ ส่งผลให้ประเทศเสียหาย นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และมีการโยงไปถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศจนสังคมเกิดความสับสน

นอกจากนี้ กลุ่มยังเห็นว่าข้อเสนอของทางกลุ่มซีพี 11 ข้อทำให้รัฐบาลเสียหายและเสียผลประโยชน์เป็นอย่างมาก ได้แก่ การขอขยายโครงการจาก 50 ปี เป็น 99 ปี, การขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการันตีผลตอบแทน IRR 6.75% ต่อปี, รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ, สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการลงมาเหลือ 5% ได้ เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือ CP เนื่องจกาปัจจุบัน CP ติดเรื่องเพดานเงินกู้ หรือ Single Lending Limit, ขอให้รัฐบาลค้ำประกันรฟท. ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง,

รวมทั้ง ขอผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้, รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการ, ขอชำระเงินค่าเช้าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน, หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยควาเมสียหายด้วย และ ห้าม รฟท.ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน

กลุ่มดังกล่าว ยังได้นำข้อห่วงใยของประชาชนในพื้นที่มาแจ้งให้ รฟท.รับทราบ โดยเฉพาะที่ดินประชาชนถูกเวนคืนนำไปใช้เส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เช่น ที่จ.ระยอง และจ.ฉะเชิงเทรา นำไปสอบถามในเวทีเสวนาทุกคั้งที่ทางคณะกรรมการ EEC ลงไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่ไม่ขัดขวางการพัฒนา แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

"เราจะติดตามการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างตอ่เนื่องเพื่อให้ชัดเจนว่า การคัดเลือกเอกชนที่มาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งที่ไม่ปฎิบัติตามกรอบของกฎหมาย ปราศจากการครอบงำของกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ