สรท. คงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้ -1% จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ศก.โลกชะลอ, บาทแข็ง, ภัยธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2019 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2562 ไว้ที่หดตัว -1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาท/เหรียญสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ จาก 1. ราคาทองคำที่แนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน 2. ผลกระทบจากสงครามการค้า สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งนำเข้ามากขึ้นก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีรอบใหม่ ส่งผลให้จีนมีการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ในห่วงโซ่การผลิตจากไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลุ่มสินค้าดังกล่าวติดลบน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์หลังการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐอีกครั้ง

3. การดำเนินการผลักดันแผนการส่งออกกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พณ) ครั้งที่ 1/2562 เพื่อเร่งช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและผลักดันการส่งออกในระยะสั้น 4. สินค้าศักยภาพใหม่ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระจายตลาดการส่งออกที่หลากหลาย เช่น สหรัฐ อินเดีย ช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้ดี และ 5. แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง จากสงครามการค้าและอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่ต่ำลง แต่ต้องคอยจับตาการขึ้นภาษีน้ำมันนำเข้า 5% ของจีนจากสหรัฐฯ เมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

ประธาน สรท. กล่าวด้วยว่า ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน อันได้แก่ 1.1 สงครามการค้าที่มีรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มยืดเยื้อ ดังจะเห็นได้จากการตอบโต้ทางการค้าด้วยกำแพงภาษีทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ดังนี้ จีน เก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐ 5-10% เป็นวงเงิน 75 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. ตามลำดับ สหรัฐ ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนจาก 25% เป็น 30% เป็นวงเงิน 250 พันล้านดอลลาร์ มีผล 1 ต.ค. และจาก 10% เป็น 15% เป็นวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. มีผล 1 ก.ย. 1.2 ท่าทีของนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรต่อกรณี hard Brexit จากการที่ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกับอียู ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้ส่งออก และเศรษฐกิจโลก 1.3 บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาในตะวันออกกลางมีความเปราะบางมากขึ้นเกี่ยวกับการที่สถานการณ์ในอิหร่าน การยึดเรือบรรทุกน้ำมัน รวมถึงความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานในแคว้นแคชเมียร์

2. อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งของสินค้าส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าเกษตร รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจ ประกอบกับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยการทำ Quantitative Earning (QE) และ 3. ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปีนี้ ภัยแล้งที่รุนแรงและฝนทิ้งช่วงจากปรากฎการณ์เอลนินโญ่ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงกระทบต่อปริมาณการผลิตและส่งออก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย รวมถึงภัยจากพายุทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอาจส่งผลเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรเช่นกัน

สำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญ 1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบุกตลาดอินเดียซึ่งเป็นตลาดเดียวที่ไม่ติดลบและมีโอกาสมาก เช่น ยางพาราและไม้ยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า สเปรย์และเคมีซ่อมแซม ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการค่อนข้างสูง และไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงใช้ประโยชน์จาก FTA Thai-India และเร่งเจรจา FTA Thai-Sri Lanka 2. พิจารณาตลาดที่มีโอกาสการเติบโตสูงและตลาดรอง เช่น กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า ที่มีการเติบโตสูงในตลาด กรีซ ออสเตรีย ยูเครน ซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าไทยทดแทนตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

3. ขอให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ใช้รูปแบบการหารือระหว่างรัฐและเอกชนรายสินค้า (Champion of Product: COP) ร่วมกับทูตพาณิชย์แต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นกลไกและช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการทำได้โดยเร็ว และ 4. ขอให้สนับสนุนช่องการค้าผ่าน e-commerce platform หรือ National Digital Trade Platform (NDTP) ที่เอกชนร่วมผลักดันให้มากขึ้นเป็นช่องทางขยายการค้าได้ในช่วงที่สงครามการค้ายังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ