World Environment Forum เรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 26, 2013 14:53 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

เซาเปาโล--26 มิ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ การประชุมสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Forum) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก LIDE- Grupo de Lideres Empresariais [Group of Business Leaders] และจัดขึ้นที่เมืองฟอส ดู อีกัวซู เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ได้มีการเรียกร้องให้สังคมทบทวนพฤติกรรมของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธีมหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “2556 ปีแห่งความร่วมมือเรื่องน้ำทั่วโลก” (2013: International Year of Cooperation on Water) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งสิ้น 405 คน โรแบร์โต กลาบิน (Roberto Klabin) จาก LIDE Sustentabilidade [LIDE Sustainability] และเปรโด ปาสซอส (Pedro Passos) จาก SOS Mata Atlantica ได้ยื่นแถลงการณ์เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติอีกัวซู ต่ออิซาเบลลา เตเซรา (Izabella Teixeira) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของบราซิล และเบโต ริชา (Beto Richa) ผู้ว่าการรัฐปารานา โดยรัฐมนตรีเตเซราได้คัดค้านการเปิดใช้งานทางหลวงเอสตราดา ดู โคโลโน ซึ่งตัดผ่านอุทยานแห่งชาติอีกัวซู พร้อมกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องการให้เปิดใช้ทางหลวงเส้นนี้อีก เพราะต้องการสนับสนุนการพัฒนารัฐปารานาอย่างยั่งยืน” หลังจากนั้น ลุยซ์ เชดา (Luiz Cheida) เลขาธิการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำของรัฐปารานา, วิซองต์ อองเดรอ (Vicente Andreu) ประธานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งผู้ว่าการริชาและรัฐมนตรีเตเซรา ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการริเริ่มยกระดับการบริหารจัดการน้ำในบราซิลอย่างจริงจัง การบรรยาย ระหว่างการบรรยายในหัวข้อ “วิกฤตน้ำทั่วโลก” เบเนดิโต บรากา (Benedito Braga) ประธานสภาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำและการเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ โดยกล่าวว่า “รัฐมีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อประชาชนทุกคน แม้ว่าเราจะมีวิธีแก้ปัญหาทางเทคนิค แต่ปัญหานี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเงินด้วย” โรเบิร์ต เคนเนดี้ จูเนียร์ (Robert Kennedy Jr.) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำในบราซิลและทั่วโลก” ว่า การแปรรูปน้ำประปาเป็นของเอกชนเป็นปัญหาที่เลวร้ายที่สุดในขณะนี้ เขาย้ำว่าทุกคนควรได้รับสิทธิ์ที่จะใช้น้ำ แม้แต่ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำได้” นอกจากนี้ ฌอง-มิเชล กูสโต (Jean-Michel Cousteau) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและประธานสมาคม Ocean Futures Society ได้เรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงความจริงที่ว่า โลกมีระบบน้ำเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น “นี่เป็นช่วงเวลาวิกฤต เราต้องแสวงหาหนทางในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้” เขากล่าวในการบรรยายหัวข้อ “การบริการด้านสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทร” นอกจากนี้ กูสโตมองว่าบราซิลมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำ และชักชวนชาติอื่นๆให้ร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม มารินา ซิลวา (Marina Silva) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของบราซิล ได้ออกมาปกป้องการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ โดยกล่าวว่า “ประเด็นใหม่ๆทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยี” และเธอมองว่าผู้คนไม่ต้องการอยู่ในสถานะที่ไร้อำนาจอย่างที่ถูกยัดเยียดมาตลอดอีกต่อไป กฎบัตรฟอส ดู อีกัวซู [Carta de Foz do Iguacu] ได้มีการรวบรวมข้อสรุปต่างๆที่ได้จากการประชุม โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เพื่อให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและทรัพยากรน้ำมากขึ้น รวมถึงเสนอให้มีการใช้นโยบายสาธารณะเพื่อรับรองการอนุรักษ์ การแจกจ่ายน้ำ และสุขอนามัยในระยะสั้น นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้ลงมือทำหลายๆเรื่องในทันที เช่น การหยุดสร้างทางหลวงตัดผ่านอุทยานแห่งชาติอีกัวซู การผ่านร่างกฎหมาย PSA ก่อนปี 2557 และการใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อส่งเสริมสุขอนามัย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เอริกา วาเลริโอ (Erica Valerio) อีเมล: erica.valerio@cdn.com.br โทร. +55 11 3643.2710
แท็ก AIS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ