มังกรรุกยุโรป โดยเดินหน้าทำ FTA กับประเทศกลุ่ม EFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 24, 2014 15:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นโยบายของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินเกมส์รุกใช้นโยบาย Commercial Diplomacy เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าต่างๆ นอกเหนือจากการปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศในระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค จีนยังเน้นนโยบายการการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคี ด้วยเหตุผลในการเข้าถึงตลาดและทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า จีนมิได้กำหนดรูปแบบการทำ FTA ตายตัวในการเจรจา แต่ออกแบบ FTA แต่ละฉบับตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ สำหรับแต่ละคู่เจรจา ทั้งนี้ การทำ FTA มิได้มีผลต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและประเทศคู่เจรจาเท่านั้น หากแต่ตอกย้ำบทบาทนำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก และนโยบายการใช้บทบาทด้านเศรษฐกิจนำการเมืองของจีนในภูมิภาคยุโรป ด้วยการทำ FTA กับสมาชิก EFTA รายประเทศ และประสบความสำเร็จไปแล้ว 2 ประเทศ คือ ไอซ์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ไอซ์แลนด์

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ไอซ์แลนด์ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2549 และได้พักการเจรจาไปกว่า 3 ปี เนื่องจากไอซ์แลนด์ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป จากนั้น ทั้งสองได้กลับมาเจรจากันอีกครั้งในปี 2555 และได้ข้อสรุปในเดือนมกราคม 2556 และลงนามในความตกลงฯ ร่วมกัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 โดยความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ส่งผลให้ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปประเทศแรก ที่ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับจีน

ความตกลง FTA ฉบับนี้น่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ดีขึ้นหลังประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากปัญหาฟองสบู่แตก ตั้งแต่ปี 2551 และช่วยให้จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาร์กติก ความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ไอซ์แลนด์สจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน โดยไอซ์แลนด์จะลดภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดให้กับจีน ตั้งแต่วันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99 ของการส่งออกของจีนไปไอซ์แลนด์ ส่วนจีนจะลดภาษีศูนย์ในสินค้า 7,830 รายการ คิดเป็นร้อยละ 82 ของการส่งออกของไอซ์แลนด์มาจีน โดยจะยังคงภาษีสำหรับสินค้าบางรายการและทยอยลดภายใน 5 และ 10 ปี อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศมีการสงวนสินค้าบางรายการที่จะไม่นำมาลดภาษี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อและนมสำหรับไอซ์แลนด์ และกระดาษสำหรับจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของการลดภาษีน่าจะเพิ่มการส่งออกสินค้าประมงของไอซ์แลนด์และโลหะผสมเหล็กไปยังจีน และเพิ่มการนำเข้าสินค้าหลากหลายชนิดจากจีนไปยังไอซ์แลนด์ ในขณะเดียวกัน ไอซ์แลนด์ต้องการขยายตลาดในสาขาเศรษฐกิจที่ไอซ์แลนด์มีศักยภาพ อาทิ การค้าบริการ และพลังงานความร้อน เป็นต้น

ประเด็นอื่นๆ ที่รวมอยู่ในความตกลงฯ ได้แก่ การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน กลไกระงับข้อพิพาท และความร่วมมือ เป็นต้น รวมถึงข้อบทที่เกี่ยวกับการยกเลิกความตกลงฯ (Termination) ซึ่งจะมีผลในกรณีที่ไอซ์แลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในอนาคต ความตกลง FTA ฉบับนี้ ถือเป็นความตกลงที่เปิดเสรีมากที่สุดเท่าที่จีนเคยทำมา และทั้งสองฝ่ายได้เปิดเสรีการค้าบริการมากกว่าที่ผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำหรับการทำ FTA ฉบับต่อๆไป ที่จีนจะทำกับประเทศในแถบยุโรปในอนาคต

การเจรจาความตกลง FTA ระหว่างจีน ที่มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน กับไอซ์แลนด์ที่มีประชากร 320,000 คน มีนัยสำคัญมากกว่าการเป็นความตกลงทางการค้าทั่วไป การทำ FTA กับไอซ์แลนด์ มีนัยสำคัญต่อจีนอย่างมาก กล่าวคือ จีนเล็งเห็นประโยชน์ของการเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคอาร์กติก ที่กำลังประสบกับภาวะโลกร้อน ภาวะน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว จะนำไปสู่ผลประโยชน์มหาศาลต่อจีน ในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1)การเข้าถึงเส้นทางการเดินเรือเข้าไปในแถบอาร์กติก ซึ่งจะช่วยร่นระยะทางกว่า 6,400 กิโลเมตรและประหยัดเวลากว่า 2 สัปดาห์ ในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ไปยุโรปตอนเหนือ

2)การเข้าถึงแหล่งจับปลาของน่านน้ำยุโรปเหนือ และทะเล Arctic 3)โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ ก๊าซ น้ำมัน ทองคำ และเหล็ก และในช่วงที่ผ่านมา จีนได้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน Arctic Circle และบริษัทน้ำมันของจีน ได้ยื่นขอใบอนุญาตเข้าไปสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซในบริเวณชายฝั่งของ Arctic ของไอซ์แลนด์แล้ว

ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำของไอซ์แลนด์ ความตกลงฯ จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ โดยรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะปรับแก้กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อต่อนักลงทุนจีนมากขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านการครอบครองที่ดินของต่างชาติ กระแสดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับประชากรไอซ์แลนด์ เนื่องจากเกรงการเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจของจีน และการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและการเข้าไปถือครองที่ดินขนาดใหญ่ในไอซ์แลนด์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์วิทยา ที่จะกระทบต่อสัตว์และพืชท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นข้อกังวลเหล่านี้ มีการส่งผ่านต่อไปยังรัฐสภายุโรป โดยมีมติออกมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ให้ประเทศ Nordic ระมัดระวังผลกระทบจากการอนุญาตประกอบธุรกิจน้ำมัน (เทคโนโลยี ความปลอดภัย การป้องกันการรั่วไหลของน้ำมัน) ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการขยายตัวของการลงทุนจากจีนอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค Arctic ดังกรณีตัวอย่าง การเข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติของจีนในภูมิภาคละตินอเมริกาและแอฟริกา การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-สวิตเซอร์แลนด์

หลังการประชุมเจรจากว่า 9 ครั้ง ภายใน 2 ปี จีนและสวิตเซอร์แลนด์ได้ข้อสรุปการจัดทำความตกลงการค้าเสรีและลงนามในความตกลงฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 โดยสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปประเทศที่สอง ที่ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับจีน ความตกลง FTA นี้จะมีบังคับใช้พร้อมกับความตกลงการค้าเสรีจีน-ไอซ์แลนด์ คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์จะให้ความเห็นชอบต่อความตกลง FTA ฉบับนี้ อย่างไรก็ดี พบว่า ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และประเด็นปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคคลเข้าเมือง แต่การทำ FTA จีน ถือเป็นก้าวสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ในการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดตลาดในประเทศเล็ก เศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก สำหรับจีน มีความสำคัญในฐานะคู่ค้าลำดับ 3 ของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นรองเพียงสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ความตกลง FTA ระหว่างจีนและสวิตเซอร์แลนด์ ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และนโยบายการแข่งขัน

ความตกลง FTA นี้ สาระสำคัญสามารถสรุปได้ ดังนี้
  • การค้าสินค้า ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สวิตเซอร์แลนด์จะเปิดตลาดภาษีศูนย์ให้สินค้าจีน คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของการส่งออกรวมของจีนไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะที่ จีนจะเปิดตลาดภาษีศูนย์ให้สินค้าสวิสทันที ประมาณร้อยละ 84.5 ของการส่งออกรวมของสวิตเซอร์แลนด์ไปจีน และจะทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้ารายการต่างๆ ที่เหลือภายใน 5 - 10 ปี รวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.5 ของการส่งออกรวมของสวิตเซอร์แลนด์ไปจีน
  • การค้าบริการ จีนยังคงไม่เปิดตลาดมากไปกว่าที่เปิดภายใต้องค์การการค้าโลก โดยเฉพาะสาขาบริการในสาขาที่สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสนใจ ได้แก่ การเงิน ประกันภัย ก่อสร้าง การกระจายสินค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการปรึกษาทางธุรกิจ และโฆษณา เป็นต้น อย่างไรก็ดี FTA ฉบับนี้ เปิดตลาดธุรกิจ Securities ให้กับสวิตเซอร์แลนด์ โดยอนุญาตให้ทำ Joint Venture และถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 โดยให้สิทธิในการรับประกันภัย(Underwriting) ในหลักทรัพย์ ตลอดจนหนี้เอกชน/หนี้รัฐบาล นอกจากนั้น จีนยังอนุญาตให้ผู้ประกอบสวิสในสาขาธุรกิจบริการบำรุงรักษา สถาปนิก วิศวกร ได้ stay permit 6 เดือน - 1 ปี และอนุญาตให้ถือหุ้นต่างด้าวได้ทั้งหมดในธุรกิจบริการสิ่งแวดล้อม (การกำจัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ การควบคุมเสียง) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางประเภท เป็นต้น
  • ทรัพย์สินทางปัญญา ความตกลงฯ อิงกับความตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ดี พบว่า มีความแตกต่างที่แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

ข้อบทที่ให้การคุ้มครองมากกว่า WTO แต่มิเกินขอบเขตของกฎหมายจีน ได้แก่ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ครอบคลุมถึง videograms (วิดีโอเทปหรือดีวีดี) การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับ acoustic marks ตลอดจนกระบวนการจับกุมสินค้าที่เข้าข่ายว่าอาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อบทที่ให้การคุ้มครองมากกว่า WTO และเกินกว่ากรอบกฎหมายจีน อาทิ กระบวนริบทรัพย์ ค่าปรับความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ครอบคลุมชื่อประเทศและธงชาติในสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ การทำ FTA กับจีน นักธุรกิจและนักลงทุนชาวสวิสสามารถเข้าไปทำธุรกิตและลงทุนในตลาดจีนได้อย่างมั่นใจ ด้วยระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่คาดการณ์ได้ พร้อมด้วยการคุ้มครองการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ได้เปรียบกว่านักลงทุนจากยุโรปชาติอื่นๆ นอกจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังเล็งเห็นถือโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการค้าเงินหยวนของจีนในอนาคตอันใกล้

บทวิเคราะห์
  • แนวคิดจีนในการทำ FTA กับกลุ่มประเทศ EFTA เกิดจากความล้มเหลวในการปฏิสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป จีนจึงหันมาหาพันธมิตรนอกกลุ่ม แม้ตอนแรกจะมีแนวคิดทำ FTA กับ EFTA แต่จีนตัดสินใจทำความตกลง FTA ทวิภาคีกับรายประเทศสมาชิก EFTA แทน โดยเริ่มจากไอซ์แลนด์ ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด ตามด้วยนอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การเจรจากับนอร์เวย์มีเหตุให้ชะงักไปหลังการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับนาย Liu Xiaobo ในปี 2010 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและนอร์เวย์เข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างที่สุด และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเจรจากันอีก แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่แล้ว ส่งผลให้แนวโน้มในการทำ FTA ระหว่างจีนกับ EFTA ดูจะลางเลือนต่อไป
  • อย่างไรก็ดี ความตกลงการค้าเสรีข้างต้นของจีนกับไอซ์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นใบเบิกทางของจีนในการปฏิสัมพันธ์กับยุโรป ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ประกาศกลับมาทบทวนแผนการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-สหภาพยุโรป เพราะปัจจุบันสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 1 ของจีน โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่ามากถึงกว่า 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อวัน
  • สำหรับการเจรจาระหว่างไทยกับ EFTA ยังคงหยุดชะงัก แม้ในอดีตจะมีการเจรจาไปแล้ว 2 รอบ แต่ก็หยุดชะงักไปเมื่อเดือนกันยายน 2549 (2006) เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และแม้ว่าที่ผ่านมา ผู้นำของไทยและสวิตเซอร์แลนด์ได้ตกลงที่จะให้รื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป โดย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-EFTA แล้ว แต่ไทยและ EFTA ก็ยังมิได้เริ่มการเจรจารอบใหม่แต่อย่างใด
  • จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า สถิติการค้าของจีนกับกลุ่มประเทศ EFTA ขยายตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และขยายตัวเกินเท่าตัวในช่วงปี 2012-2013 โดยมีมูลค่าการค้ารวม 59 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา โดยจีนขาดดุล EFTA กว่า 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการค้าส่วนใหญ่เป็นการส่งออกของ EFTA ไปตลาดจีน สินค้าส่งออกหลักของ EFTA ที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ นาฬิกา เครื่องมือแพทย์ เหล็กคาร์บอน นิกเกิล และสินค้าประมง เป็นต้น ในขณะที่ สินค้าส่งออกของจีนไปตลาด EFTA ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องทำความร้อน และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม EFTA ยังคงมีมูลค่าเพียง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากว่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้ามูลค่าสูง อาทิ ทองคำ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัชกรรม ปุ๋ย เครื่องจักร และ สารเคมี จาก EFTA เป็นหลัก สำหรับสินค้าที่ไทยส่งไปตลาด EFTA ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการทำ FTA ระหว่างจีนกับ EFTA และ ไทยกับ EFTA พบว่า จีนได้เดินนำหน้าไทยไปแล้ว กล่าวคือ จีนไม่รอทำ FTA กับ EFTA แต่เดินหน้าทำ FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกที่สามารถเจรจาทำความตกลงได้เลย ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้จาก FTA ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ในเบื้องต้น สินค้าส่งออกศักยภาพของไทยที่ไปตลาด EFTA อาจไม่ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA ของจีนกับกลุ่ม EFTA มากนัก เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยและจีนไปตลาด EFTA ยังคงแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การทำ FTA ระหว่างไทย กับ EFTA ที่ล่าช้า อาจส่งผลให้ไทยก็จะเสียประโยชน์ในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจำเป็นราคาถูกจาก EFTA อาทิ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัชกรรม เครื่องจักรและส่วนประกอบ และสัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น

ที่มา : www.bilaterals.org

www.chinabriefing.com Library Briefing (the European Parliament), 12 September 2013 CSS Analyses in Security Policy: The Sino-Swiss Free Trade Agreement

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ