ผลการประชุมด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2015 16:46 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มาเลเซียประธานอาเซียนในปี 2558 ได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รวม 11 การประชุม โดยก่อนหน้าได้มีการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เพื่อเตรียมการด้านเศรษฐกิจของอาเซียนสำหรับการประชุมระดับผู้นำ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมAEC Council ได้ให้ความเห็นชอบแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกสารที่ผู้นำอาเซียนประกาศในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 โดยแผนงานดังกล่าวเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้าของอาเซียน ที่จะยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ต่อยอดจากมาตรการในปี 2015 ให้มีความเข้มข้นและประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับเดินหน้ารวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นที่อาเซียนจะต้องร่วมกันผลักดัน ได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาขาที่มีบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบเศรษฐกิจการยกเลิก/ลดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน การปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเข้มแข็งแก่ MSMEs ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการสาขาด้านเศรษฐกิจเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาต่างๆให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559

ในด้านความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาเซียนและจีนสามารถสรุปพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีการลงนามพิธีสารดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 โดยมีผู้นำอาเซียนและจีนร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ พิธีสารฯมีสาระสำคัญ ประกอบด้วยการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร การเปิดเสรีบริการ การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุน และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ผู้นำได้เร่งรัดให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการให้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการมีผลใช้บังคับโดยเร็ว และเร่งหาข้อสรุปการเจรจาข้อบทด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในด้านการค้าบริการไทยผูกพันที่จะเปิดเสรีภาคบริการหลายกิจกรรมในสาขาสำคัญ เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง บริการโทรคมนาคม บริการก่อสร้าง บริการสิ่งแวดล้อม บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา เป็นต้น โดยในส่วนของสาขาบริการที่ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดให้แก่อาเซียน เช่น บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการเงิน และบริการด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นควรกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีให้มากขึ้น และเห็นพ้องให้มีการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมต่อไป

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งสามารถสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญได้แล้ว ทำให้การเจรจาการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงข้อบทต่างๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น และจะพยายามเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ซึ่งความตกลง RCEP จะส่งเสริมซึ่งกันและกันกับความตกลง TPP และจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตโดยรวมของภูมิภาค อันจะนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในอนาคต

อนึ่ง ในช่วงการประชุมฯนายกรัฐมนตรีของไทยได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น (นายชินโซ อาเบะ) โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ฝ่ายญี่ปุ่นรับที่จะช่วยเร่งรัดกระบวนการในการออกใบรับรองด้านสุขอนามัยเพื่อการนำเข้ามะม่วงจากไทย โดยไทยจะช่วยติดตามเรื่องการนำเข้าเนื้อวัวและส้มจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย และยินดีจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคคลากรของไทยเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย รวมทั้ง ยินดีหากไทยจะให้ความสนใจจะเข้าร่วมความตกลง TPP โดยเห็นว่าความตกลงจะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งภูมิภาค

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

24 พฤศจิกายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ