นายกฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก TFA สะดวกขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 26, 2017 14:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ประสานกับองค์การการค้าโลกและอาเซียน รวมทั้งหน่วยงานระดับชาติอื่นๆ ในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าจะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งชาติ (National Committeeon Trade Facilitation: NCTF) ตามบทบัญญัติในความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ Trade Facilitation Agreement (TFA) ภายใต้ WTO โดยคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย โดยมีกระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ) และกรมศุลกากร เป็นฝ่ายเลขานุการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระดับประเทศเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ TFA ของ WTO เพื่อให้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า/ส่งออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจของไทย

ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อจำนวนสมาชิก WTO เกินกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด (110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ) ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออกสินค้า ลดความซับซ้อนและแก้ไขกระบวนการที่ยุ่งยากเป็นอุปสรรคต่อการค้า รวมทั้งนำเทคโนโลยีและระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนมาใช้ เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านการเงิน ระยะเวลา และความไม่แน่นอนของขั้นตอนการนำเข้า ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO โดยมีตัวอย่างของมาตรการสำคัญที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติ เช่น การตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มช่องทางการชำระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในการตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งขณะนี้มีจำนวนประเทศที่ให้การยอมรับพิธีสารแล้วทั้งหมด 121 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น จีน (คู่ค้าอันดับที่ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 2) สหภาพยุโรป (อันดับ 3) สหรัฐอเมริกา (อันดับ 4) และสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย

“การจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณี TFA ของไทยนั้น ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนในการนำเข้าส่งออกและเพิ่มมูลค่าทางการค้า โดยธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ประมาณการว่าการปฏิบัติตาม TFA อาจช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกต่อปีระหว่าง 30,000 – 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกลุ่มสมาชิก WTO และช่วยลดต้นทุนการค้าลงได้ประมาณร้อยละ 12.9 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่อหัวปานกลางขั้นสูง รวมถึงประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการส่งเสริมจุดยืนด้านการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน และความพยายามเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคอาเซียน” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

25 กรกฎาคม 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ