FTA หนุนยุทธศาสตร์ผลไม้ ผลักดันไทยเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 13, 2018 14:51 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงการค้าเสรีของไทยส่งผลให้การส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปสูงขึ้นสอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหาอำนาจด้านผลไม้เมืองร้อนของโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ผลไม้ของรัฐบาล โดยไทยสามารถส่งออกผลไม้เมืองร้อนหลายรายการ อาทิ ทุเรียน มะม่วง ลำไย และมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยไปยังตลาดสำคัญที่ไทยมี FTA ได้มากขึ้น ในปี 2560 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่มี FTA กับไทย

สำหรับตลาดอาเซียนซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้อันดับหนึ่งของไทยนั้น สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรของผลไม้และผลไม้แปรรูปตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียนแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้ในปี 2553 การส่งออกผลไม้ของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 39 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20 จากปี 2552 และมูลค่าส่งออกสินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปไปอาเซียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มูลค่าการส่งออกสินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปจากไทยไปอาเซียนมีมูลค่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 643 จากปี 2552 และคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปของไทยไปโลกโดยผลไม้ที่ได้รับความนิยม และมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นตลอดในช่วงปี 2558 -2560 คือ ลำไยสดและแห้ง ลำไยกระป๋อง ทุเรียนสด แห้งและแช่แข็ง มังคุด และมะม่วง โดยในปี 2560 ลำไยสด มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดถึง 440 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ไทยมีมูลค่าส่งออกไปเวียดนามและอินโดนีเซียสูงที่สุดในอาเซียน รองลงมาคือ ทุเรียนสด มีมูลค่าการส่งออกราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเวียดนามและมาเลเซียมากที่สุด และมังคุด มีการส่งออกมูลค่าประมาณ 146 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ไทยมีการส่งออกไปเวียดนามและลาวสูงที่สุด

จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ FTA อาเซียน – จีน (ACFTA) จีนจัดให้ผลไม้และผลไม้แปรรูปอยู่ในกลุ่มการเปิดเสรีส่วนแรก (Early Harvest) โดยยกเลิกภาษีศุลกากรของผลไม้ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งช่วยให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 740 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 16 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปทั้งหมดของไทยไปโลก มีมูลค่าสูงขึ้นกว่าร้อยละ 1,650 เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้แก่อาเซียน สินค้าศักยภาพของไทยในตลาดจีน ได้แก่ ทุเรียนสด ลำไยสด มังคุด ลำไยแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง มะพร้าว และสับปะรดกระป๋อง โดยในปี 2560 ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่าประมาณ 216 ล้านเหรียญสหรัฐ ลำไยสดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 152 ล้านเหรียญสหรัฐ มังคุดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสับปะรดกระป๋องรวมมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าอื่นที่ไทยมีความตกลงทางการค้าด้วย เช่น ออสเตรเลีย ที่ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และอาเซียน – ออสเตรเลีย- นิวซีแลนด์ (AANZFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 และปี 2553 ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปในปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 350 เมื่อเทียบกับปี 2547 และส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปเกาหลีใต้ในปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 329 เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่ความตกลงAKFTA มีผลบังคับใช้และเริ่มลดภาษีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขยายช่องทางการตลาดต่างประเทศและแสวงหาตลาดใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ ซึ่งที่ผ่านมา FTA ได้ช่วยเพิ่มการส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปของไทยไปยังประเทศคู่ภาคีต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ผนวกกับการดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการเพาะปลูกของไทย การสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากลเรื่องมาตรฐานและคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ขยายช่องทางตลาดออนไลน์ ตลอดจนการพัฒนาระบบการขนส่ง และการกระจายสินค้า จึงเชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าการส่งออกได้ และจะนำไปสู่การเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลกได้ในอนาคต

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

12 กุมภาพันธ์ 2561

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ