จับตาการท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 13:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

จับตาการท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นางสาวปัณฑา เกตุเรืองโรจน์

เศรษฐกร ทีมวิเคราะห์ดุลการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ภาคส่วนอื่นๆ เพราะรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีสัดส่วนถึงร้อยละ 6 ของรายได้ประชาชาติ(*1) และยังช่วยให้ประเทศไทยเกินดุลจากภาคการท่องเที่ยวมาตลอด เพราะเราได้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยมากกว่ารายจ่าย ที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปต่างประเทศ ถึงแม้รายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวจะมีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า แต่รายได้ดังกล่าวส่วนใหญ่จะตกอยู่กับคนไทย เพราะการท่องเที่ยวใช้ทรัพยากรจากในประเทศเป็นหลัก

แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้รายได้และการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ซึ่งล้วนกระทบต่อภาคการผลิตและบริการของทุกๆประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก

ที่ผ่านมาภาครัฐและผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างร่วมมือกันอย่างขันแข็งเพื่อกระตุ้นให้การท่องเที่ยว ไทยฟื้นตัวในระหว่างที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น เช่นที่ผู้ประกอบการร่วมกันลดราคาโรงแรมที่พัก และมาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่เดินทางไปประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวยังประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

การท่องเที่ยวไทยที่พลิกฟื้นขึ้นได้ ถือเป็นความน่ายินดีของประเทศ แต่อาจไม่ใช่ความสำเร็จที่สมบูรณ์ หากพิจารณาให้ลกลงไปจะพบว่ารายรับจากการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น เป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อคน (Tourism Revenue per Person) กลับลดลง

สาเหตุหลักเป็นเพราะโครงสร้างของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯและยุโรปฟื้นตัวช้ากว่า โดยโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปมาจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน ซงเศรษฐกิจแถบเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกน้อยกว่าจึงฟื้นตัวได้เร็วกว่า ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม G3 ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ และปัญหาฐานะการคลังและหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรป ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 1 จากข้อมูลบัญชีประชาชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

หากนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ในอนาคต ผลที่จะตามมา คือ ภาครัฐและผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องออกแรงมากหน่อย เพราะต้องเพิ่มนักท่องเที่ยวเอเชียอีก 1.4 - 2.4 คน(*2) เพื่อชดเชยรายรับท่องเที่ยวที่ขาดหายไปจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯหรือยุโรปหนึ่งคน เนื่องจากนักท่องเทียวเอเชียมีค่าการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อวันต่ำกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น โดยมีค่าการใช้จ่ายต่อวันประมาณ 4,000 บาท เทียบกับค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯและยุโรปที่ประมาณ 4,200 บาทต่อวัน ประกอบกับจำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวเอเชียค่อนข้างสั้น เพียงแค่ 6-7 วันต่อทริป เทียบกับนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาที่มีวันพักเฉลี่ยนานถึง 13-15 วันต่อทริป

การเปลี่ยนโครงสร้างของนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ภาคการท่องเที่ยวต้องวางแผนและปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวให้รองรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว ประเด็นสำคัญ คือ การท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ อาจมีความจำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ แต่ในระยะยาว จำเป็นต้องเน้นคุณภาพให้มากขึ้น เพราะแหล่งท่องเที่ยวของไทย คงไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้ตลอดไป นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากไปยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งท่องเที่ยว และจะกระทบการท่องเที่ยวในระยะยาวได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ทางคอลัมน์ แจงสี่เบี้ย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2553

(*1) จากข้อมูลบัญชีประชาชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
(*2) จากข้อมูลสำรวจปี 2550 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ