รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำ เดือนธันวาคม 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 2, 2011 15:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ราคาน้ำมันและข่าวการปรับตัวของราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2553 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และค่าครองชีพ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2553 จำนวน 2,738 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 24.9* เป็น 24.6 แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในระดับต่ำ โดยสะท้อนได้จากค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 20.7 เป็น 24.6 เป็นผลมาจากภาคการส่งออกมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานในระบบ ขณะที่ปัญหาค่าเงินบาทยังคงเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 14.2 เป็น 14.5 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่มากนัก อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองซึ่งสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 32.0 เป็น 31.3 เนื่องจากราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าหลายชนิดเริ่มปรับราคาสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของประชาชนยังคงเท่าเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่ามูลค่าของเงินมีค่าลดลง ซึ่งสร้างความกังวลต่อการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนเป็นอย่างมาก

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2553 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัว เพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 32.44 บาท เป็น 34.34 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 28.59 บาท เป็น 29.59 บาท

  • หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความมเชื่อมั่นผู้บ้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2553
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 14.2 “ไม่ดี” ร้อยละ 59.6
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 22.1 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 41.1
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.9 “หางานยาก” ร้อยละ 63.6
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.5 “หางานยาก” ร้อยละ 59.9
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 21.2 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 22.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2553 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 19.7 เป็น 22.8 และภาคเหนือ จาก 26.7 เป็น 27.3 เนื่องจากราคาสินค้าภาคการเกษตรมีการขยายตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคครัวเรือนที่เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือภาคกลาง จาก 21.5 เป็น 19.3 ภาคตะวันออก จาก 20.0 เป็น 18.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 29.2 เป็น 27.3 และภาคใต้ จาก 29.4 เป็น 29.1 เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โรคระบาด และความเสียหายที่ต่อเนื่องมาจากอุทกภัย รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่ยังคงไม่มีความแน่นอน

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            16.1      16.0       10.7       12.8          10.9        8.2      6.2
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       15.8      15.3       11.1       14.1          11.5        9.9      6.7
ภาคกลาง              15.5      15.8       10.7       13.2          11.9        6.6      5.6
ภาคเหนือ              16.2      16.7       10.2       11.5          11.2        7.0      6.4
ภาคตะวันออก           18.0      17.4       10.7       12.2          10.1        9.4      5.3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   16.0      15.9       10.6       12.9           9.8        9.5      6.1
ภาคใต้                16.2      15.7       10.7       12.1          10.5        6.1      6.4

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป การว่างงาน คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ปรับค่าจ้างและค่าแรงขั้นต่ำให้มีความสมดุล หามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ

2. ดูแลราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

3. ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้นอกระบบ/ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน และปัญหาการคอรัปชั่น

4. ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่สมดุล ช่วยฟื้นฟูการลงทุนภายในประเทศ

5. แก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม ชุมชนระดับรากหญ้า ปัญหาปากท้องของประชาชน ดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ให้เหมาะสม

6. ควรเร่งสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้งทางด้านการเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประเทศและระบบเศรษฐกิจ

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชนนักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ