ดัชนีวัฏจักรธุรกิจเดือนพฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2014 11:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2557มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่การใช้จ่ายในประเทศเริ่มดีขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย สะท้อนได้จาก ดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจ Coincident Index) ในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ลดลงร้อยละ 1.0 ลดลงในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีสาเหตุหลักจากลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ และปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากการขยายตัวของปริมาณการผลิตเบียร์ การจัดเก็บภาษีศุลกากร มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริง (ในรูปเงินบาท) การจัดเก็บภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ และปริมาณการผลิตซีเมนต์

ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจต่อไปในระยะสั้น ยังคงชะลอตัวจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนได้จาก ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น (Short Leading Index) ในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ลดลงร้อยละ 0.9 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และมูลค่าการส่งออกที่แท้จริง (ในรูปเงินบาท) อย่างไรก็ดี ยังได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่ดัชนีราคาหุ้น และปริมาณเงินตามความหมายแคบ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ทำให้แนวโน้มการทำธุรกิจดีขึ้น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจต่อไปในระยะกลาง สะท้อนได้จาก ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะกลาง (Medium-runLeading Index) ในเดือนพฤษภาคม 2557 ลดลงร้อยละ 2.0 ลดลงในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ2.4 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมาณเงินตามความหมายกว้าง

กล่าวโดยสรุป ภาวะเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจ และดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะกลางที่มีทิศทางดีขึ้นจากช่วงก่อน แม้ว่าดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้นจะชะลอลงแต่มีปัจจัยหลักมาจากภาคการก่อสร้างที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย ส่งผลดีต่อการบริโภค และการลงทุน รวมถึงกลไกการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่เริ่มขับเคลื่อนต่อไปได้ อันจะเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 8000 โทรสาร 0 2547 5209-10

www.price.moc.go.th , indexbc@moc.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ