รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2015 11:27 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2557

ประชาชนมีความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพ ส่งผลให้ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,271 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 44.2 ซึ่งมีค่าเท่ากับเดือนที่ผ่านมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 38.7 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายนที่มีค่า 38.6 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 47.8 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ที่มีค่า 47.9 ทั้งนี้ ดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า เศรษฐกิจในประเทศหลักๆมีการชะลอตัว กอปรกับสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรของไทยลดต่ำลง รายได้ของเกษตรกรลดลง ก่อให้เกิดหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง โดยในเดือนนี้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน อีกทั้ง ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ยังได้รับผลกระทบจาก การปรับขึ้นอัตราค่าแท็กซี่ ค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่า รัฐบาลจะมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน และราคาน้ำมันขายปลีกหลายรายการที่ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก การท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น แต่ประชาชนก็ยังอยู่ในภาวะที่ระมัดระวังและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 52.2 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ค่าดัชนียังสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต แต่ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าครองชีพของผู้บริโภค รายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่ายประชาชนจึงลดการใช้จ่ายลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ               มิ.ย. 57       ก.ค. 57      ส.ค. 57      ก.ย. 57     ต.ค. 57      พ.ย. 57      ธ.ค. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      38.4          41.4         44.0         45.8         46.1        44.2         44.2
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                           มิ.ย. 57    ก.ค. 57     ส.ค. 57     ก.ย. 57     ต.ค. 57      พ.ย. 57     ธ.ค. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     30.4       35.4        38.3        40.6        40.2         38.6        38.7
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     43.7       45.4        47.8        49.2        50.1         47.9        47.8
ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                          มิ.ย. 57      ก.ค. 57      ส.ค. 57      ก.ย. 57      ต.ค. 57     พ.ย. 57      ธ.ค. 57
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        47.9         49.2         50.2         53.3         53.9        52.8         52.2
ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                  มิ.ย. 57      ก.ค. 57     ส.ค. 57      ก.ย. 57     ต.ค. 57     พ.ย. 57      ธ.ค. 57
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                   25.4         29.3        30.6         31.2        31.3        29.4         29.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)    31.7         33.4        36.6         36.3        37.2        33.9         33.9
ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                  มิ.ย. 57    ก.ค. 57      ส.ค. 57     ก.ย. 57     ต.ค. 57      พ.ย. 57     ธ.ค. 57
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        58.3       55.0         55.4        56.6        59.2         61.1        62.4
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         16.8       16.5         16.6        15.0        16.5         13.6        14.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       22.1       22.0         21.8        20.9        23.1         21.5        19.6
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค
กรุงเทพฯและปริมณฑล ธันวาคม 57 = 51.6
ภาคกลาง               ธันวาคม 57 = 43.1
ภาคเหนือ               ธันวาคม 57 = 46.0
ภาคตะวันออก            ธันวาคม 57 = 47.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    ธันวาคม 57 = 45.5
ภาคใต้                 ธันวาคม 57 = 29.3

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2557 หลายภาคปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 51.9 เป็น 51.6 ภาคกลาง จาก 46.9 เป็น 43.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 47.4 เป็น 45.5 และภาคใต้จาก 32.4 เป็น 29.3 ส่วนภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ภาคเหนือ จาก 42.2 เป็น 46.0 และภาคตะวันออก จาก 38.2 เป็น 47.4 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในหลายภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเข้าท่วมบ้านเรือนและสวนยางพารา รวมทั้ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

การอ่านค่าดัชนี ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ดี"
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ไม่ดี"

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้าและราคาพลังงาน เช่น ราคาน้ำมัน ค่าน้ำประปา/ไฟฟ้าและแก๊สหุงต้ม

ในภาคครัวเรือน เป็นต้น รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม

2. เร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่น

ให้กับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ

3. หาช่องทางในการจำหน่ายและระบายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ดูแลราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพื่อช่วยลดต้นทุน

ด้านสังคม

1.แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ปราบปรามการทุจริตและการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น

2.แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3.แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ปรับปรุงระบบการศึกษา เน้นคุณภาพของบุคลากร รวมทั้ง แก้ไขปัญหานักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ

5.ช่วยเหลือให้ผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถกู้เงินในระบบจากธนาคารได้

6.แก้ไขมลภาวะในแหล่งชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่

7.ส่งเสริมการสร้างรายได้ของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนต่างๆ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ