ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2015 10:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับเดือนเมษายน 2558
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.1 และดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.8

ดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ตามปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ลดลง และความต้องการตลาดต่างประเทศปรับสูงขึ้น สำหรับหมวดสินค้าเกษตรกรรม สินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ยางพาราและ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยเนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีบางหมวดสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ตามราคาวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร จากราคาน้ำตาลทรายที่ปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก และการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤษภาคม 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ในตลาดโลก เนื่องจากแผนชะลอการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ และปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ สร้างความวิตกที่อาจจะมีผลกระทบต่ออุปทานและการขนส่งน้ำมัน ขณะที่หมวดสินค้านำเข้าอื่นๆ ได้แก่ หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดอุปโภคบริโภค ปรับลดลง

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 97.1 และเดือนเมษายน 2558 เท่ากับ 97.0

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.1

เดือนพฤษภาคม 2557 ลดลงร้อยละ 1.7

เฉลี่ยมกราคม-พฤษภาคม 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 1.8

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับเดือนเมษายน 2558

ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนเมษายน 2558 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง) เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 2.7 หมวดสินค้าเกษตรกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.5

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.7 (เดือนเมษายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า               ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
น้ำมันสำเร็จรูป                    + 3.0

น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 3.0 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) ซึ่งเป็นการปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลก

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือนเมษายน 2558ลดลงร้อยละ 0.8) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
ยางพารา                     +2.2
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง             +0.9
ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง     +0.3
ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง       +1.0
ไก่                          +1.0

สินค้ากสิกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของราคายางพาราร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังร้อยละ 0.9 ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งร้อยละ 0.3 ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งร้อยละ 1.0 และสินค้าปศุสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากราคาไก่สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอออกสู่ตลาดไม่มากนัก หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) แต่มีสินค้าบางหมวดที่ราคาเปลี่ยนแปลง ดังนี้

รายการสินค้า                    ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
เม็ดพลาสติก                             +2.4
เคมีภัณฑ์                                +0.6
ผลิตภัณฑ์ยาง                             +0.4
ยานพาหนะ อุปกรณ์และการขนส่ง              +0.1
เครื่องอิเลคทรอนิกส์                       -0.5
เครื่องใช้ไฟฟ้า                           -0.2
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์                 -0.3

สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เม็ดพลาสติกสูงขึ้นร้อยละ 2.4 (เอทิลีน โพรพิลีน สไตรีน ไวนิลคลอไรด์) เคมีภัณฑ์สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์ สารสกัดที่ใช้ในการฟอกหนังและย้อมสี) ผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ยานพาหนะ อุปกรณ์และการขนส่งสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ) ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 0.5 (เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์) เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.2 (เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สายไฟฟ้า สายเคเบิล) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 0.3 (ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า)

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) แต่มีสินค้าบางหมวดที่ราคาเปลี่ยนแปลง ดังนี้

รายการสินค้า                    ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)

น้ำตาลทราย                              -2.3
อาหารทะเลกระป๋อง                        -0.6
ผลไม้กระป๋อง                             -1.0
ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ         -0.4
ผักกระป๋องและแปรรูป                       -0.7

น้ำตาลทรายลดลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการรับมอบน้ำตาลตามสัญญาที่สูงเป็นประวัติการณ์ และมีการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร สินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องลดลงร้อยละ 0.6 ผลไม้กระป๋องลดลงร้อยละ 1.0 ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 และผักกระป๋องและแปรรูปลดลงร้อยละ 0.7

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.8 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 7.3 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 4.2 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 1.8

1.5 เทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 9.9 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.8 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.7

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 88.0 และเดือนเมษายน 2558 เท่ากับ 87.3

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.8

เดือนพฤษภาคม 2557 ลดลงร้อยละ 9.5

เฉลี่ยมกราคม-พฤษภาคม 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 10.5

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับเดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) โดยมีสาเหตุหลักมาจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ซึ่งปรับสูงขึ้นร้อยละ 5.5 ขณะที่หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.4 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 0.9 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 0.1 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 0.2

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 5.5 (เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 3.4) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
น้ำมันดิบ                      +7.7
น้ำมันเบนซิน                  +10.9
น้ำมันดีเซล                    +6.5

น้ำมันดิบสูงขึ้นร้อยละ 7.7 น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 2.1 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) โดยราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ลดลงจากแผนชะลอการลงทุน ขุดเจาะและผลิตน้ำมันในช่วงต้นปีที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบของตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อยังคงสร้างความวิตกถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบและการขนส่งน้ำมัน

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 (เดือนเมษายน 2558 ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                              ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ                -0.6
เครื่องจักรไฟฟ้าอื่นๆ และส่วนประกอบ                     -1.5
อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า               -0.9
เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์                           -0.5

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.5 (เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.6 (เครื่องจักรไฟฟ้าอื่นๆ และส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.3 (เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.9 (เดือนเมษายน 2557 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                 ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง                 -1.3
ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ                                - 1.3

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ลดลงร้อยละ 1.3 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ)

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนเมษายน 2558 ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
เหล็ก                                                -1.6
เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ                         -1.4
พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์                                     -0.3
สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์อื่น                      -1.1
อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์                                    -0.4

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.3 (เหล็ก เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ) เนื่องจากยังคงมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ในตลาดโลก พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชลดลงร้อยละ 0.3 (พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 0.2 (สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์)

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนเมษายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (พ.ค.58/เม.ย.58)
ยารักษาโรค                    -2.3
เครื่องสำอาง                   -2.6

ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมลดลงร้อยละ 1.8 (ยารักษาโรค) สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอางลดลงร้อยละ 2.5 (เครื่องสำอาง)

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 9.5 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 33.2 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.9 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 4.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 6.8

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.5 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 38.1 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.3 หมวดสินค้าวัตถุดิบและ กึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 3.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.0 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 5.6

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ