การกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2553/54

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2553/54 และการชดเชยรายได้เกษตรกร

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 ช่วงวันที่ 1 — 7 มีนาคม 2553

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบ หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินการมาตรการโครงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2553/54 และการชดเชยรายได้เกษตรกรโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วงวันที่ 1-7 มีนาคม 2553 ตามมติ กขช. เมื่อ 31 มกราคม 2554 ดังนี้

1. เห็นชอบกำหนดกรอบและแนวทางปฏิบัติในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2553/54 โดยใช้แนวทางเดียวกับที่ได้ดำเนินการในปี 2552/53 จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก ปี 2553/54 โดย

1.1.1 องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รับซื้อข้าวเปลือกผ่านโรงสี ตลาดกลางในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน หรือสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพ ในการรับซื้อ เก็บรักษา และสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร โดยให้ อคส.และ อ.ต.ก.กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาใช้ในการดำเนินการ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน และให้กระทรวงการคลังยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าว ระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้

(1) ดำเนินการรับซื้อ รอบที่ 1 เดือนมกราคม 2554 — 15 มีนาคม 2554 ยกเว้นภาคใต้ 15 มีนาคม — 15 กรกฎาคม 2554 รอบที่ 2 16 มีนาคม — 31 สิงหาคม 2554 ยกเว้นภาคใต้ 16 กรกฎาคม — 15 ธันวาคม 2554

(2) ระยะเวลาโครงการ มกราคม 2554 ถึง มกราคม 2555

1.1.2 ให้ อคส. และ อ.ต.ก. รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเฉพาะชนิดข้าวที่เกณฑ์กลางอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกัน และกรณีข้าวเปลือกคุณภาพต่ำ เช่น ข้าวเปลือกชนิด 10% (ภาคใต้) หรือข้าวเปลือก 25% รับซื้อในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงปรับลดลง ตันละ 200 และ 600 บาท ตามลำดับ

1.1.3 มอบหมายคณะอนุกรรมการดำเนินการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาล ทำหน้าที่กำกับดูแลการสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

1.1.4 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาจำหน่ายข้าวสารทำหน้าที่จำหน่ายข้าวที่ อคส./อ.ต.ก. รับซื้อแทรกแซงไว้ในรูปข้าวเปลือกหรือข้าวสาร โดยให้จำหน่ายทั้งภายในและส่งออก รวมทั้งจำหน่ายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

1.1.5 เห็นชอบกรณีที่ อคส. รับฝากข้าวเปลือกของเกษตรกรไว้ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ในโรงสี 2 แห่ง จำนวน 1,092.71 ตัน โดยเก็บที่โรงสีเก่งการ 22 จำกัด ปริมาณ 1,029.38 ตัน และบริษัทโรงสีบุญทวีทรัพย์ จำกัด ปริมาณ 63.33 ตัน ซึ่งรับฝากข้าวเปลือกตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2553 สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรับฝากข้าวของโรงสีขอให้เป็นไปตามมติที่ กขช. กำหนด

1.1.6 วงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ ดังนี้

(1) วงเงินจ่ายขาดเบื้องต้น จำนวนประมาณ 615.795 ล้านบาท จากงบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำแนกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับซื้อ จำนวน 200 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกของ อคส. , อ.ต.ก. และสถาบันเกษตรกร โดยให้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง และค่า Overhead ตันละ 45 บาท ในอัตรารวมกันไม่เกินตันละ 100 บาท ค่าเก็บรักษาข้าวสารที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกที่รับซื้อ อัตราตันละ 216 บาท ต่อ 6 เดือน รวมจำนวน 412 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบติดตามและการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาล จำนวน 3.795 ล้านบาท

(2) เงินทุนหมุนเวียน โดยกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้ อคส. และ อ.ต.ก. นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกในวงเงิน 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดปริมาณที่จะแทรกแซงเป็นกรอบที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายและรองรับปัญหาด้านราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามกรอบที่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา โดยจะรับซื้อแทรกแซงเฉพาะในพื้นที่ที่เกษตรกรจำหน่ายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าเกณฑ์กลางอ้างอิงเท่านั้น ซึ่งผลการดำเนินงาน ปรากฎว่าปี 2552/53 มีการรับซื้อข้าวเปลือก จำนวน 143,992 ตัน จำแนกเป็น อคส. 97,531 ตัน อ.ต.ก. จำนวน 46,461 ตัน งบประมาณที่ใช้ จำนวน 1,402.816 ล้านบาท (อคส. 964 ล้านบาท อ.ต.ก. 414 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ย 24.816 ล้านบาท) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าเก็บรักษา ถึงปัจจุบัน (ก.พ.54) 165 ล้านบาท

1.2 โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งกลางในการซื้อขายข้าวเปลือกที่ให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร โดยให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดดำเนินการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญในพื้นที่ 56 จังหวัด รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกำกับดูแลให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวทั้งในการชั่งน้ำหนัก การหักลดความชื้นและสิ่งเจือปน รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานและรายงานผล ระยะเวลาดำเนินการ มกราคม — ตุลาคม 2554 ระยะเวลาโครงการ มกราคม — พฤศจิกายน 2554 โดยดำเนินการเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก หรือราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

วงเงินที่ใช้ดำเนินการเป็นเงินจ่ายขาดจำนวน 6.50 ล้านบาท แยกเป็น (1) จำนวน 6.00 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรให้จังหวัดแหล่งผลิตเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และ (2) จำนวน 0.50 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของส่วนกลางเพื่อติดตามและประเมินผลตามโครงการ ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาอนุมัติจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

ผลการดำเนินการปีที่ผ่านมาได้อนุมัติวงเงิน 11 ล้านบาท ดำเนินการจัดตลาดนัด 127 ครั้ง ในพื้นที่ 38 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20,393 ราย ปริมาณ 62,804 ตัน มูลค่าการ ซื้อขาย 642.98 ล้านบาท สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ในราคาสูงกว่าตลาด ตันละ 50-1,900 บาท โดยใช้วงเงินไปจำนวน 2.423 ล้านบาท และได้ส่งคืนเงินคงเหลือให้กองทุนร่วมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว

1.3 โครงการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โดยให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกโรงสีข้าวและตลาดกลางในความส่งเสริมของกรมการค้าภายในที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและจัดส่งให้กรมการค้าภายในเพื่อนำเสนอคณะกรรมการที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในแต่งตั้ง ประกอบด้วยหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐสมาคมโรงสีข้าวไทย เป็นต้น เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการดำเนินการ และการจ่ายเงินชดเชยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งพิจารณาอนุมัติตามโครงการเพิ่มสภาพคล่องให้โรงสีข้าวและตลาดกลางฯ ระยะเวลาดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกเดือนมีนาคม-เมษายน 2554 โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันกู้ ระยะเวลาสิ้นสุดการชดเชยดอกเบี้ยเดือนกรกฎาคม 2554 ระยะเวลาโครงการ เดือนกุมภาพันธ์ — กันยายน 2554

วงเงินที่ใช้ดำเนินการเป็นเงินจ่ายขาดเบื้องต้น จำนวนประมาณ 103 ล้านบาท จากงบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำแนกเป็น จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ให้แก่โรงสีข้าวและตลาดกลางฯ ที่เข้าร่วมตามโครงการผ่านธนาคารพาณิชย์และ/หรือธนาคารของรัฐ และจำนวน 3 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามและกำกับดูแลตรวจสอบ การดำเนินการของส่วนกลางและภูมิภาค

ผลการดำเนินโครงการปีที่ผ่านมา ครม. (12 ตค.53) อนุมัติให้ผู้เข้าร่วมโครงการกับธนาคาร จำนวน 10 แห่ง ผู้ประกอบการค้าข้าว 997 ราย วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 686 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานครบถูกต้อง และเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชย

1.4 โครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอการจำหน่าย ปีการผลิต 2553/54 โดยให้ ธ.ก.ส. รับฝากข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ข้าวเปลือกพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวเปลือกเหนียว ในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอการจำหน่าย เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ ธ.ก.ส. รับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรให้สอดคล้องกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับค่าดูแลรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตรา 1,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรอย่างน้อย 30 วัน ระยะเวลารับฝากเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2554 และภาคใต้รับฝากตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2554 ระยะเวลาไถ่ถอนข้าวเปลือกและรับชำระคืนเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายใน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับฝาก ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม -ธันวาคม 2554 และให้ ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี โดยให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. ในการดำเนินการ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรให้แก่ ธ.ก.ส. ในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4.75 ต่อปี) ของเงินต้นที่เกษตรกรคงเป็นหนี้ โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการขอจัดสรรงบประมาณ และให้เกษตรกรได้รับค่าขนย้ายข้าวเปลือกจากยุ้งฉางเกษตรกร ถึงจุดรับมอบข้าวเปลือกที่กำหนดตามที่จ่ายจริงไม่เกินตันละ 250 บาท และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นผู้พิจารณากำหนดปริมาณ ราคา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการจำหน่ายข้าวเปลือก และกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาในการจำหน่ายข้าวเปลือกเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยและค่า ฝากเก็บ จำนวน 610.843 ล้านบาท ธ.ก.ส. ดำเนินการใน 20 จังหวัด ปริมาณรับฝาก 292,160.27 ตัน เกษตรกรไถ่ถอน 234,509.341 ตัน คงเหลือข้าวที่คณะทำงานพิจารณาระบายข้าวสารต้องระบายจำหน่าย จำนวน 57,650.292 ตัน (ข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 57,382.429 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า จำนวน 268.500 ตัน วงเงินที่ใช้ จำนวน 445.66 ล้านบาท แยกเป็น ค่าชดเชยดอกเบี้ย 73.35 ล้านบาท ค่าฝากเก็บ 372.31 ล้านบาท)

1.5 โครงการผลักดันการส่งออกข้าว ปี 2554

เห็นชอบโครงการผลักดันการส่งออกข้าว ปี 2554 โดยให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินแผนการผลักดันการส่งออกข้าว ดังนี้

1) การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยจัดคณะผู้แทนภาครัฐเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับหน่วยงานรัฐบาลของประเทศมาเลเซีย

2) การขยายตลาดเชิงรุก โดย 1) เพื่อรักษาตลาดข้าวเดิมของไทยและขยายตลาดข้าวไทยไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ 2) สร้างความสัมพันธ์ที่มีกับภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ ผู้นำเข้า 3) เจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าข้าวของต่างประเทศ

ทั้งนี้ ตลาดเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดเอเชีย ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา

3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดย 1) การสร้างตราข้าวหอมมะลิไทย 2) การขยายตลาดข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งกิจกรรมที่จะดำเนินการ ได้แก่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายร่วมกับร้านอาหารไทย/ภัตตาคาร/ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่

2. การชดเชยรายได้เกษตรกรโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วงวันที่ 1-7 มีนาคม 2553

เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนการคำนวณเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 ช่วงวันที่ 1 — 7 มีนาคม 2553 ใหม่ จากเดิมที่ใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน เป็นการใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันแทน และอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติมให้เกษตรกรที่ใช้สิทธิช่วงวันที่ 1 — 7 มีนาคม 2553 เฉพาะข้าวเปลือกเจ้า 5% ปริมาณข้าวเปลือก 23,060 ตัน เป็นเงินจำนวน 2.70 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ