(ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฉบับที่ 3-4

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 10:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฉบับที่ 3-4 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พร้อมทั้งให้รับความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงแรงงานไปพิจารณาดำเนินการปรับแก้ไขข้อความในรายละเอียดต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 โดยบทบัญญัติข้อ 44 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติเป็นระยะ โดยประเทศไทยได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานและรายงานด้วยวาจาฉบับแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2539 และตุลาคม 2541 และเสนอรายงานฉบับที่ 2 และรายงานด้วยวาจา เมื่อเดือนเมษายน 2547 และมกราคม 2549 ตามลำดับ โดยการจัดทำรายงานฉบับต่อไป คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้ประเทศไทยจัดทำรายงานฯ ฉบับที่ 3 และ 4 ไว้ด้วยกัน ซึ่ง พม. ได้ดำเนินการจัดทำรายงานฯ ฉบับที่ 3-4 อย่างเป็นขั้นตอนตามแนวทางของสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติข้อ 44 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ดังนี้

1.1 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำรายงานฯ ฉบับที่ 3-4 แบ่งออกเป็น 9 คณะ

1.2 จัดประชุมพิจารณาร่างรายงานฯ ฉบับที่ 3-4 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ 5 ครั้ง

1.3 ในคราวประชุมคณะอนุกรรมการ เรื่อง “สิทธิเด็ก” ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) รายงานฯ ฉบับที่ 3-4 และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

1.4 ในคราวประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) รายงานผลฯ ฉบับที่ 3-4 โดยได้เสนอแนะให้การแปลเนื้อหาของรายงานเป็นภาษาอังกฤษ ต้องมีความกระชับและได้ใจความสำคัญ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

1.5 จัดแปล (ร่าง) รายงานฯ ฉบับที่ 3-4 เป็นฉบับภาษาอังกฤษโดยได้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตรวจสอบ (ร่าง) รายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษ

2. โดยเนื้อหาของ (ร่าง) รายงานฯ ฉบับที่ 3-4 จะประกอบด้วย

2.1 มาตรการทั่วไป : ข้อสงวนข้อ 7 และข้อ 22 กฎหมายการประสานงาน นโยบายด้านเด็กและเยาวชน กระบวนการติดตามอิสระ การจัดสรรงบประมาณ การรวบรวมข้อมูลสถิติ การเผยแพร่อนุสัญญา

2.2 หลักการทั่วไป : การไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอดและการพัฒนา การเคารพความคิดเห็นของเด็ก

2.3 สิทธิพลเมืองและเสรีภาพ : การจดทะเบียนการเกิด ชื่อ สัญชาติและสถานะบุคคล การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเฆี่ยนตีเด็ก

2.4 สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและการเลี้ยงดูรูปแบบอื่น : การเลี้ยงดูรูปแบบอื่น ความรุนแรง การกระทำมิชอบ การปฏิบัติที่เลวร้ายและการทอดทิ้งเด็ก เด็กติดมารดาในเรือนจำ

2.5 สุขภาพพื้นฐานและสวัสดิการ : เด็กทุพพลภาพ สุขภาพและบริการด้านสุขภาพ สุขภาพเด็กวัยรุ่น สุขภาวะแวดล้อม เอชไอวี/ เอดส์ คุณภาพชีวิต

2.6 การศึกษา เวลาว่าง และกิจกรรมทางวัฒนธรรม : การศึกษา การฝึกอบรมและการแนะแนว จุดมุ่งหมายของการศึกษา

2.7 มาตรการปกป้องพิเศษ : เด็กในพื้นที่พักพิงของผู้หนีภัยจากการสู้รบ เด็กที่เป็นบุตรของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน แรงงานเด็ก การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กและการค้าเด็ก เด็กในกระบวนการยุติธรรม เด็กชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชนกลุ่มน้อย เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤษภาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ