การพิจารณาลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การพิจารณาลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

(International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายต่อองค์การสหประชาชาติให้ทันก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานดังนี้

1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance ) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 61 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้การทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นฐานะความผิดตามกฎหมายอาญา (เน้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกระทำในนามเจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งกำหนดโทษของความผิดดังกล่าว โดยรัฐจะต้องกำหนดให้ตนมีเขตอำนาจศาลเหนือความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ถึงแม้ว่าบุคคลที่หายสาบสูญ หรือบุคคลที่ประกอบอาชญากรรมดังกล่าวจะไม่ใช่คนชาติของตน และการทำให้หายสาบสูญก็มิได้เกิดขึ้นในดินแดนของรัฐตน ทั้งนี้ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและจัดให้เหยื่อและสมาชิกในครอบครัวได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเหมาะสมอนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 โดยมีประเทศที่ลงนามแล้ว 88 ประเทศ และเข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันแล้ว 23 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2554) สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1.1 ส่วนที่ 1 พันธกรณีของรัฐภาคีในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 1 — 25) ประกอบด้วย

1.1.1 การปราบปรามการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ข้อบทที่ 1 — 16)

1.1.2 การป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ข้อบทที่ 17 — 25)

1.2 ส่วนที่ 2 คณะกรรมการว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (ข้อบทที่ 26 — 36)

1.2.1 โครงสร้างคณะกรรมการ (ข้อบทที่ 26)

1.2.2 การควบคุมคณะกรรมการ (ข้อบทที่ 27 — 28,36)

1.2.3 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (ข้อบทที่ 29 — 34)

1.2.4 การเริ่มมีผลของคณะกรรมการ (ข้อบทที่ 35)

1.3 ส่วนที่ 3 การบังคับใช้อนุสัญญาฯ และบทเบ็ดเตล็ด (ข้อบทที่ 37 — 45)

1.3.1 ขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญา (ข้อบทที่ 37 — 41 และ 43)

1.3.2 ข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีเรื่องการตีความและการปรับใช้อนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 42)

1.3.3 การแก้ไขอนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 44)

2. ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสมของท่าทีของประเทศไทยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในอนุสัญญา

3. ในการประชุมคณะทำงานเพื่อประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2/2550 ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยธ. เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นหน่วยงานประสานหลัก เนื่องจากอนุสัญญาฯ ทั้งในด้านสาระและการปฏิบัติกำหนดพันธกรณีที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอยู่หลายข้อบท

4. ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ได้พิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ดำเนินการศึกษาถึงความพร้อมของประเทศไทยต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิจารณาถึงท่าทีที่เหมาะสมของประเทศไทย ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในอนุสัญญาฯ ร่วมกับคณะกรรมการที่กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งได้มีหนังสือสอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ และแนวปฏิบัติที่ยังไม่สอดคล้องโดยตรงกับหลักการของอนุสัญญาฯ ดังนั้น ในเบื้องต้น จึงเห็นว่าประเทศไทยควรลงนามในอนุสัญญาฯ เพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศทราบถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายและแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอันเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และผู้นำอาเซียน อย่างไรก็ดี หากภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้กฎหมาย กฎ ระเบียบ มาตรการ และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ทุกประการแล้ว รัฐบาลไทยก็ควรพิจารณาเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ