นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2555 — 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2555 — 2557 ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ดังนี้

1. กากถั่วเหลือง กำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้ากากถั่วเหลือง ตามพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2007 ในประเภทย่อย 2304.00.00 (กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และกากแข็งอื่น ๆ ที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง จะบดหรือทำเป็นเพลเลตหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่แป้งถั่วเหลืองพร่องไขมันที่เหมาะสำหรับมนุษย์บริโภค) จากคราวละ 1 ปี เป็นคราวละ 3 ปี (2555-2557) โดยมีมาตรการเช่นเดียวกับปี 2554 เนื่องจากเป็นนโยบายที่เหมาะสม สามารถประสานประโยชน์ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างสมดุลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยปรับเปลี่ยนเฉพาะอัตราอากรนำเข้าในโควตาของกากถั่วเหลืองภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) ให้เป็นไปตามข้อผูกพัน ดังนี้

1.1 การนำเข้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) 1) ในโควตา กำหนดอากรนำเข้าร้อยละ 2 และผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 8 สมาคม (สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ) และมีเงื่อนไขผู้มีสิทธินำเข้าต้องรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันพืชทั้งหมดในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนด โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายในพิจารณาให้สอดคล้องกับราคารับซื้อขั้นต่ำเมล็ดถั่วเหลืองเกรดสกัดน้ำมัน แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอาหารให้ความเห็นชอบ และต้องทำสัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหาร ซึ่งต้องมั่นใจว่าผู้นำเข้ารายใหม่จะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด 2) การนำเข้านอกโควตา กำหนดอากรนำเข้าร้อยละ 119

1.2 การนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อากรนำเข้าร้อยละ 0

1.3 การนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ออสเตรเลีย ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อากรนำเข้าในโควตาร้อยละ 0

1.4 การนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) ปี 2555 อากรนำเข้าในโควตาร้อยละ 4.44 ปี 2556 ร้อยละ 3.33 ปี 2557 ร้อยละ 2.22

1.5 การนำเข้าทั่วไป อากรนำเข้าร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท

ทั้งนี้ การนำเข้าตาม 1.1 — 1.5 ให้นำเข้าได้โดยไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า

2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าระยะเวลา 1 ปี ต่อไปชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับมาตรการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA ให้มีความเหมาะสม สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรของไทย และลดข้อโต้แย้งของประเทศเพื่อนบ้าน ภายในเดือนมีนาคม 2555 โดยมาตรการนำเข้าปี 2555 มีดังนี้

2.1 การนำเข้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) 1) อากรนำเข้าในโควตาร้อยละ 20 ปริมาณโควตา 54,700 ตัน โดยให้ อคส.เป็นผู้นำเข้า 2) อากรนำเข้านอกโควตาร้อยละ 73 และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท

2.2 การนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อากรนำเข้าร้อยละ 0 ผู้นำเข้าทั่วไปกำหนดเวลานำเข้าระหว่าง 1 มีนาคม - 31 กรกฎาคม 2555 และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐาน และควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 สำหรับ อคส. ให้นำเข้าได้ โดยไม่จำกัดเวลานำเข้า

2.3 การนำเข้าภายใต้โครงการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน (Contract Farming) ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) อากรนำเข้าร้อยละ 0 กำหนดเวลานำเข้าระหว่าง 1 มีนาคม — 31 กรกฎาคม 2555 ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานและควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525

2.4 การนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-นิวซีแลนด์ อากรนำเข้าในโควตาร้อยละ 0 ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อากรนำเข้าในโควตาร้อยละ 0

2.5 การนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย อากรนำเข้าในโควตา ร้อยละ 10.67 ปริมาณโควตา 7,696.84 ตัน โดยให้ อคส. เป็นผู้นำเข้า อากรนำเข้านอกโควตาร้อยละ 65.70

2.6 การนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อากรนำเข้าในโควตา ช่วง 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2555 ร้อยละ 12.70 และช่วง 1 เมษายน — 31 ธันวาคม 2555 ร้อยละ 10.90

2.7 การนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) อากรนำเข้าในโควตา ร้อยละ 8.89

2.8 การนำเข้าทั่วไป อากรนำเข้ากก.ละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 1,000 บาท

ทั้งนี้ การนำเข้าตามข้อ 2.1 — 2.8 นอกเหนือจากปริมาณในโควตาให้นำเข้าได้โดยไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า

3. ปลาป่น กำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าปลาป่นทุกชนิดโปรตีนจากคราวละ 1 ปี เป็นคราวละ 3 ปี (ปี 2555-2557) ตามกรอบข้อผูกพันและกฎหมายของกรมศุลกากร ดังนี้

3.1 ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และการนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-จีน (เว้นพม่า) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อากรนำเข้าร้อยละ 0

3.2 การนำเข้าตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ช่วง 1 มกราคม - มีนาคม 2555 อากรนำเข้าร้อยละ 1.67 และ 1 เมษายน 2555 - 31 ธันวาคม 2557 ร้อยละ 0

3.3 การนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน—สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) อากรนำเข้าร้อยละ 10

3.4 การนำเข้าทั่วไป ปลาป่นโปรตีน 60% ขึ้นไป อากรร้อยละ 15 โปรตีนต่ำกว่า 60% อากรร้อยละ 6

ทั้งนี้ การนำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% ขึ้นไปไม่จำกัดปริมาณนำเข้า ส่วนโปรตีนต่ำกว่า 60% เป็นสินค้าต้องขออนุญาตนำเข้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ