ขออนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ระหว่างประเทศและสำนักเลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กต. แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักเลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน

2. อนุมัติให้ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กต. หรือผู้แทนลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรในองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในด้านความมั่นคงและสังคม เพื่อจะได้มีโอกาสรับทราบพัฒนาการต่าง ๆ ของทวีปอเมริกาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ตลอดจนเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอันจะนำไปสู่การขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาระหว่างกันจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาในรูปของการให้ทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี โดยจัดที่ประเทศไทยในสาขาที่มีความเหมาะสมและตรงความต้องการที่ OAS กำหนดไว้ และเป็นสาขาที่ไทยมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับปัญหาโลกที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นเอกสารกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่าง สพร. กับ OAS สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 การดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง สพร. กับ OAS ในลักษณะของการจัดฝึกอบรมในประเทศไทยหรือในประเทศ

สมาชิกของ OAS

2.2 กรอบสาขาความร่วมมือระหว่าง สพร. กับ OAS ได้แก่ สาขาการพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development)

การบริหารจัดการการท่องเที่ยว (Tourism Management) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social

Development) การจ้างงานและการลดความยากจน (Employment and Poverty Reduction) ตลอดจนสาขาอื่น ๆ

ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

2.3 ส่งเสริมการจัดการประชุมในระดับทวิภาคีเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างกันทั้งสองฝ่าย

2.4 เงื่อนไขในการดำเนินกิจกรรมที่มีร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับด้านเงินทุนและบุคลากรนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการความร่วมมือ

แบบใต้-ใต้ (South-South Cooperation) คือ ทั้งสองฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

3. การจัดทำความตกลงดังกล่าวจะส่งผลต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยซึ่งเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรกับประเทศสมาชิกของ OAS ให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยใช้ความร่วมมือทางวิชาการเป็นเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ