รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2013 10:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2554 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป

สาระสำคัญของรายงานการพัฒนาระบบราชการไทยประจำปีพ.ศ. 2554

1. ภาพรวมของระบบราชการสรุปได้ ดังนี้

1.1 หน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารมี 4 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ส่วนรายการ มีหน่วยงานในส่วนกลาง รวม 177 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค รวม 954 หน่วยงาน และส่วนท้องถิ่น รวม 7,853 หน่วยงาน

ประเภทที่ 2 รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

ประเภทที่ 3 องค์การมหาชน 66 หน่วยงาน

ประเภทที่ 4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ (หน่วยธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ) 8 แห่ง

1.2 กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนทั้งข้าราชการและบุคลากรประเภทอื่น จำนวน 2,112,684 คน ปรากฎว่า คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบราชการได้น้อยลง เนื่องจากกรณีที่มีการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งทั้งประเภทวิชาการและประเภททั่วไป ทำให้ต้องยุบตำแหน่งระดับบบรรจุทั้งประเภทวิชาการและประเภททั่วไป เพื่อนำอัตราเงินเดือนมาพอกเป็นเงินเดือนของตำแหน่งที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีเงินเดือนสอดคล้อง คนรุ่นใหม่จึงมีโอกาสในการเข้าสู่ระบบราชการได้น้อยลง โอกาสที่คนเก่งคนดีจะเข้ามาเป็นกำลังของระบบจึงเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้ระบบราชการไทยอยู่ในสภาวะที่ยากแก่การปรับตัว

1.3 สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบ ในส่วนเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 19 จาก 183 ประเทศ และได้มีการตัดปัจจัยในการประเมินบางตัวออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ดีมีคะแนนสูง ทำให้ลำดับของประเทศไทยจึงถูกปรับลดลงไปอยู่ที่ 19 ในส่วนดัชนีสภาวะธรรมาภิบาล มิติประสิทธิผลของภาครัฐ และมิติคุณภาพของมาตรการควบคุม ยังคงอยู่ใน Percentile Rank ที่ 50-75 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 27 สำหรับอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของนานาประเทศ ซึ่งประเทศที่มีค่าดัชนีสูงสุดคือ ประเทศที่มีคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ซึ่งการจัดอันดับปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 80 (ค่าดัชนี 3.4) โดยปรับลำดับลดลงมาจากปี พ.ศ. 2553 ซึ่งอยู่ที่ลำดับที่ 78 (ค่าดัชนี 3.5) หากพิจารณาจากค่าดัชนี เมื่อเทียบกับปีก่อน จะปรับดีขึ้น 0.1 คะแนน แต่ลำดับกลับลดลง หมายถึงการคอร์รัปชั่นในไทยลดลงเล็กน้อย แต่ภาพลักษณ์กลับด้อยลงเมื่อเทียบกับนานาประเทศ อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ดูดีขึ้น เมื่อพิจารณาย้อนไปในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีลำดับอยู่ที่ 84 ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับเดียวกับประเทศโคลัมเบีย เอลซาลวาดอร์ กรีซ มอร็อคโค และเปรู ซี่งมีค่าดัชนี 3.4 เท่ากัน

1.4 ความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 64 และ 76 ในปี พ.ศ. 2551 และปี พ.ศ. 2553 ตามลำดับ ปัจจัยความพร้อมแต่ละด้านของการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยยังเป็นประเด็นท้าทายที่จะต้องเพิ่มความเร่งในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2558 ให้มากกว่าความเร็วในการพัฒนาของช่วงที่ผ่านมา มิฉะนั้น โอกาสการเป็นผู้นำในภูมิภาคของอาเซียนของประเทศไทยในด้านนี้คงเป็นไปได้ยาก

1.5 อันดับประสิทธิภาพระบบราชการไทยพบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ระบบราชการมีประสิทธิภาพ รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง

2. ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการไทย

2.1 ผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ จากการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ ประจำปี พ.ศ.2554 พบว่า ส่วนราชการมีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากมีหลายส่วนราชการที่ผลการประเมินสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ในส่วนของจังหวัดมีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าเป้าหมาย ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาพบว่า ค่าคะแนนต่ำสุด และค่าคะแนนเฉลี่ย เพิ่มสูงขึ้น และคะแนนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำลง ผลการประเมินการปฏิบัติงานของค์การมหาชนในภาพรวมการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

2.2 การผลักดันการพัฒนาระบบราชการไทย ในรอบปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

  • ตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชน ได้มีการสานต่อการดำเนินงานจาก ปี พ.ศ. 2553 โดยสนับสนุนให้มีการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้วยการจูงใจ ยกระดับพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการ รวมทั้ง เผยแพร่ผลงานการพัฒนาคุณภาพให้การบริหารของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  • การปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ปรับกลยุทธ์การบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งปรับปรุงระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวง
  • การมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ โดยยังคงให้ความสำคัญกับการทบทวนบทบาทภารกิจภาครัฐ เพื่อเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เข้ามาจัดบริการสาธารณะแทนภาครัฐ พัฒนาระบบบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรภาครัฐ และสนับสนุนให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาตนเองตามเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐยกระดับการบริหารจัดการขององค์การมหาชน ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • การสร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใส มั่นใจ และสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ประชาชน และสังคมโดยรวมส่วนราชการมีการกำกับดูแลองค์การที่ดีด้วยระบบการตรวจสอบที่ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากหน่วยงาน ผ่านทางคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด และกำหนดให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอีกด้วย

2.3 การดำเนินงานขั้นต่อไปของ ก.พ.ร. การให้บริการประชาชนในสภาวะที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยโดยพัฒนาให้มีระบบการบริหารจัดการองค์การอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะวิกฤต การเตรียมตัวของหน่วยงานภาครัฐ รองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ริเริ่ม “โครงการระบบการทำงานรูปแบบใหม่”เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายผลการปฏิบัติราชการแบบเวอร์ช่วล (Virtual Office) อันจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสะดวก สามารถทำงานได้ทุกที่ มีความคล่องตัวในการทำงาน ประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย เตรียมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการไทยฉบับต่อไป (พ.ศ. 2556 — พ.ศ. 2560) และการเปิดให้ภาคเอกชนหรือองค์กรในภาคส่วนอื่นและชุมชนสามารถเข้ามาจัดบริการสาธารณะได้มากขึ้น

3. ผลการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. มีหน้าที่หลักในการให้การสนับสนุนการทำงานของ ก.พ.ร. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น โดยดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2551-พ.ศ.2555) และได้ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การร่วมมือกับธนาคารโลก เพื่อการเสริมสร้างสมรรถนะระบบราชการไทยให้เป็นกลไกที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศและเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาดูงานของคณะผู้แทนจากหน่วยงานต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการไทย

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้วางยุทธศาสตร์ในการบริหารเพื่อให้การทำงานประสบผลสำเร็จ เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สำนักงาน ก.พ.ร. ได้คะแนน 4.4760 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ในผลการประเมินการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ