การนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจ

ข่าวการเมือง Wednesday April 1, 2015 07:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง

2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ในประเด็นที่มิใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ.ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ

4. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 3

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ.รายงานว่า

1. ประเทศไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการมีกรอบความร่วมมือระหว่างสองประเทศด้านการประมง จึงได้มีการหารือร่วมกันและได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Indonesia on Fisheries Cooperation) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2545 โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี และได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2548

2. ฝ่ายไทยได้ยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ เสนอฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซียพิจารณาซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางการประมงที่เน้นผลประโยชน์ร่วมกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีการบริหารจัดการการประมงอย่างรับผิดชอบ เน้นการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือทางวิชาการ การวิจัยร่วม และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งนี้ จะร่วมมือกันในสาขาการเพาะเลี้ยง การประมงทะเล การแปรรูปและถนอมคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับ การฝึกอบรมและการศึกษา การวิจัย การพัฒนาและจัดการการประมงชายฝั่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรประมง การลงทุนร่วม การต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) และความรับผิดชอบต่อลูกเรือที่ตกค้างอยู่ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่งในกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนการร่วมมือกันในการกำหนดท่าทีร่วมกันก่อนการเข้าร่วมในเวทีระหว่างประเทศและภูมิภาค นอกจากนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการระงับข้อพิพาท ตลอดจนการมีผลบังคับใช้และการยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะอนุกรรมการความร่วมมือทางการประมงไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (JC Sub-committee on Fisheries Cooperation) และทวิภาคี (Bilateral Meeting) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ