การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ด้านสาธารณสุขของไทย

ข่าวการเมือง Tuesday October 13, 2015 18:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าหรือความตกลงทริปส์ (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPS) ด้านสาธารณสุขของไทย และนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

2. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำตราสารยอมรับ (Instrument of Acceptance) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบตามข้อ 1 เพื่อให้ พณ. นำส่งไปยังองค์การการค้าโลก

พณ. เสนอว่า

1. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2544 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ได้ร่วมจัดทำปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข (Doha Declaration) โดยตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงยาของประชาชน และย้ำถึงข้อผ่อนปรนภายใต้ความตกลงทริปส์เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข เช่น การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) เป็นต้น อย่างไรก็ดี สมาชิกองค์การการค้าโลกที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยาจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการ CL ตามความตกลงทริปส์ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความตกลงทริปส์ ข้อ 31 จำกัดการใช้มาตรการ CL เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาภายในประเทศแต่ไม่อนุญาตให้สมาชิกองค์การการค้าโลกใช้มาตรการ CL เพื่อส่งออกยาไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพการผลิตได้ (ข้อ 31 (เอฟ)) ปฏิญญาโดฮาฯ ย่อหน้าที่ 6 จึงระบุให้สมาชิกองค์การการค้าโลกหารือเพื่อแก้ไขปัญหานี้

2. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การยอมรับพิธีสารดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาของสมาชิกองค์การการค้าโลกที่ไม่มีศักยภาพการผลิตยา และจะทำให้สมาชิกองค์การการค้าโลกซึ่งรวมทั้งไทย สามารถประกาศ CL เพื่อส่งออกยาที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตไปช่วยเหลือประเทศที่ไม่มีศักยภาพการผลิตได้ จึงเห็นควรที่ไทยจะแจ้งการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ฯ ต่อองค์การการค้าโลก และเมื่อสมาชิกองค์การการค้าโลกจำนวนสองในสามของสมาชิกทั้งหมดให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ฯ ซึ่งจะส่งผลให้พิธีสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับ พณ. จะดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว

สาระสำคัญของการแก้ไขความตกลงทริปส์ฯ ข้อ 31 ทวิ และภาคผนวก สรุปได้ดังนี้

1. ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตยาสามารถประกาศ CL เพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่มีความจำเป็นและขาดศักยภาพในการผลิตได้

2. ประเทศผู้นำเข้าไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้มาตรการ CL ซ้ำซ้อนอีกหากได้มีการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับยานั้นในประเทศผู้ส่งออก

3. ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่เป็นภาคีความตกลงทางการค้าในภูมิภาค (Regional Trade Agreement) ที่มีสมาชิกมากกว่ากึ่งหนึ่งเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดสามารถส่งออกยาภายใต้มาตรการ CL ระหว่างกันได้

4. ห้ามฟ้องร้องกรณีได้รับผลกระทบจากการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ฯ (non – violation complaint)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ