ขออนุมัติจัดทำบันทึกช่วยจำระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปเพื่อจัดการประชุม 2016 OSCE Asian Conference

ข่าวการเมือง Tuesday May 31, 2016 18:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติจัดทำบันทึกช่วยจำระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปเพื่อจัดการประชุม 2016 OSCE Asian Conference

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างต่อบันทึกช่วยจำระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปเรื่องการประชุม 2016 OSCE Asian Conference ภายใต้หัวข้อหลัก การเสริมสร้างความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ (Aide-Memoire between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and the Organization for Security and Co-operation in Europe with respect to the 2016 OSCE Asian Conference on Strengthening Comprehensive Security) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกช่วยจำฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ ให้ กต. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

2. ให้ กต. แจ้งสำนักงานเลขาธิการองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) โดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกช่วยจำฯ โดยไม่ต้องลงนาม

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า OSCE เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ซึ่งเน้นการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้านความมั่นคงใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคงในมิติมนุษย์ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปและในเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตทั้งหมด สหรัฐอเมริกา แคนาดา และมองโกเลีย) ขณะเดียวกัน OSCE มีความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคภายใต้ชื่อประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ (Partners for Co-operation) อีก 11 ประเทศ [ฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน 6 ประเทศ และฝ่ายเอเชีย 5 ประเทศ (ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย)]

ร่างบันทึกช่วยจำฯ เป็นเอกสารเพื่อแบ่งภารกิจ หน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างไทยกับ OSEC เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ขอบข่ายงาน ค่าใช้จ่ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบของฝ่ายไทยที่จะดำเนินการเกี่ยวกับตรวจลงตราให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างรวดเร็วและไม่มีค่าใช้จ่าย การรักษาความปลอดภัยแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม การให้เอกสิทธิ์ที่จำเป็นแก่ OSEC (การให้การยกเว้นภาษีทางอ้อมและภาษีศุลกากรสำหรับรายการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ฝ่าย OSEC จะนำมาใช้ในการประชุมฯ ) การโอนเงินและถอดเงินของ OSEC ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 พฤษภาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ