การจัดระเบียบการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เพื่อให้เกิดเอกภาพและบูรณาการตามแนวทางประชารัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday March 7, 2017 16:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดระเบียบการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยกลไกคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อให้เกิดเอกภาพและบูรณาการตามแนวทางประชารัฐ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ยกเว้นในส่วนของข้อเสนอในประเด็นที่ห้ามมิให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งอาสาสมัคร มวลชน เครือข่าย หรือมวลชนที่เรียกชื่ออื่นใดในพื้นที่ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว โดยให้ มท. นำข้อเสนอในประเด็นดังกล่าวไปหารือร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติและแนวปฏิบัติที่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแนวทางการจัดระเบียบการบริหารจัดการหมู่บ้านฯ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ประชารัฐแทนประชานิยม มท. ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อให้สามารถดำเนินการตามโครงการ/กิจกรรมภายใต้แนวทางประชารัฐและเห็นสมควรให้แก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถจัดระเบียบมวลชน/อาสาสมัครในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดเอกภาพ และบูรณการการทำงานตามนโยบายประชารัฐ มีกองทุนของหมู่บ้านที่สามารถรองรับการอุดหนุน/สนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลที่จัดสรรให้แก่หมู่บ้านเพื่อดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญต่าง ๆ ของรัฐบาลได้โดยตรงและที่ผ่านมาส่วนราชการทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน แต่เป็นไปในลักษณะการตั้งองค์กรของตนเองขึ้นมาทำงานตามภารกิจ (Function) ทำให้เกิดกลุ่มมวลชน/อาสาสมัครใหม่ ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก เกิดความซ้ำซ้อนในโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณขาดการประสานงานและขาดเอกภาพในการบริหารในระดับหมู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่ในหมู่บ้านมีองค์กรที่กฎหมายรองรับอยู่แล้ว คือ คณะกรรมการหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 และคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 ดังนั้น เพื่อให้การบริหารและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม จึงควรจัดระเบียบมวลชน/อาสาสมัครในหมู่บ้านให้เกิดเอกภาพและบูรณาการตามแนวทางประชารัฐ โดยกำหนดให้มีองค์กรหลักองค์กรเดียวรับผิดชอบในหมู่บ้าน คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม.

2. ในห้วงที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ดังกล่าวมิได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนราชการต่าง ๆ ยังคงจัดตั้งมวลชนและอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นมารับผิดชอบงานตามภารกิจ (Function) ของตนเองในหมู่บ้านโดยไม่ใช้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณแผ่นดิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ