ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก

ข่าวการเมือง Tuesday March 28, 2017 17:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก ทั้งนี้หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ คค. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย

3. อนุมัติให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสำหรับการลงนามดังกล่าว

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดพื้นฐานความเข้าใจที่จำเป็น แนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินการขนส่งข้ามพรมแดน และการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้ารถยนต์และตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเป็นการริเริ่มดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA) ที่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม ได้ให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารของความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน GMS CBTA ครบทั้งหมดแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ทั้งนี้ การดำเนินการตามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรกจะสามารถลดอุปสรรคการขนส่งข้ามพรมแดน ดังนี้

1. การออกใบอนุญาตสำหรับการขนส่งทางถนน ประเทศละ 500 ฉบับ ตามความตกลง GMS CBTA จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ส่งผู้ประกอบการสามารถเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านเข้า - ออก ประเทศสมาชิก GMS อื่น ๆ ทั้ง 5 ประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นรายจุด ณ จุดผ่านแดนที่ประเทศไทยมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งทางถนนกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น (ปัจจุบันประเทศไทยมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งทางถนนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และกัมพูชา)

2. ขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์ชั่วคราวและตู้คอนเทนเนอร์ชั่วคราว ผู้ประกอบการได้รับการงดเว้นการจ่ายอากรขาเข้า ภาระภาษีขาเข้า และไม่มีภาระการวางค้ำประกัน และภาษีศุลกากร สำหรับการนำเข้ารถยนต์และตู้คอนเทนเนอร์เป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องใช้เอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document : TAD) สำหรับการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ชั่วคราว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ