แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ข่าวการเมือง Tuesday January 16, 2018 18:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบแนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ ทส. และให้ ทส. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามที่ ทส. เสนอ เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ เมื่อจัดทำแผนงาน/โครงการดังกล่าวแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการสำรวจการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 พบว่า ความยาวชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีความยาวรวมทั้งสิ้น 3,148 กิโลเมตร ในปัจจุบันชายฝั่งทะเลของประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการกัดเซาะในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงในหลายพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ มีชายฝั่งที่ได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะโดยโครงสร้างทางวิศวกรรมรูปแบบต่าง ๆ ระยะทางประมาณ 565 กิโลเมตร คงเหลือชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและยังไม่มีการป้องกันและแก้ไขปัญหา ระยะทางประมาณ 168 กิโลเมตร ดังนี้

1.1 เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งระดับรุนแรง (มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี) จำนวน 15 พื้นที่ ใน 5 จังหวัด (เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา) ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร

1.2 เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะระดับปานกลาง (มีอัตราการกัดเซาะ 1-5 เมตรต่อปี) จำนวน 31 พื้นที่ ใน 17 จังหวัด (เช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดตราด จังหวัดระยอง) ระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจำแนกออกเป็น 4 แนวทาง ดังนี้

1) การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ (Coastal equilibrium by natural processes) คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตหรือกระบวนการชายฝั่งตามธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพธรรมชาติด้วยตนเอง

2) การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (Coastal erosion protection) คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะให้มีอัตราการกัดเซาะลดลง รวมทั้งการดำเนินการในรูปแบบสอดคล้องหรือเลียนแบบธรรมชาติ

3) การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (Coastal erosion solution) คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ทั้งการใช้รูปแบบที่สอดคล้องธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติหรือใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม ตลอดจนการแก้ไขที่ต้นเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง

4) การฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง (Coastal rehabilitation) คือ การดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะไปแล้วฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติและสามารถกลับมาใช้บริการของระบบนิเวศ (Ecosystem service) ได้เหมือนธรรมชาติ

สำหรับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สามารถแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 มาตรการ 8 รูปแบบ ดังนี้

1. มาตรการสีขาว (White measure) หมายถึง การดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการด้วยรูปแบบการกำหนดพื้นที่ถอยร่น โดยการกำหนดพื้นที่กันชนให้มีระยะห่างระดับหนึ่ง และกำหนดกิจกรรมการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับอัตราการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อรองรับพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแนวชายฝั่งที่อาจได้รับผลกระทบจากพื้นที่อื่น และมีแนวโน้มจะเกิดการกัดเซาะในอนาคต

2. มาตรการสีเขียว (Green measure) หมายถึง การดำเนินงานเพื่อรักษาเสถียรภาพชายฝั่งโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง โดยเหมาะสมกับบริเวณที่มีชายฝั่งทะเลแบบปิด คลื่นขนาดเล็ก ชายฝั่งมีความลาดชันต่ำ ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด การปักเสาดักตะกอน เพื่อปลูกป่า

ชายเลน

3. มาตรการสีเทา (Gray measure) หมายถึง การดำเนินงานเพื่อรักษาเสถียรภาพชายฝั่ง โดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม โดยเหมาะสมกับบริเวณชายฝั่งทะเลเปิด คลื่นขนาดใหญ่ ชายฝั่งมีความลาดชันสูง ประกอบด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่ เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด กระบวนการพัฒนากิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การคัดเลือกพื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและมีความสำคัญต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการประเมินจากสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและสภาพปัญหาและความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่

ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ โดยพิจารณาจากข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยี ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สัตว์ทะเล หายาก รวมทั้งการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการ และขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การดูแล บำรุงรักษา ติดตาม และประเมินผล โดยจัดเตรียมแผนงานการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างเพื่อให้โครงสร้างสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามและประเมินผลหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและประเมินประสิทธิผลจากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบว่าในพื้นที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอยู่อาจจำเป็นจะต้องมีการทบทวนโครงการเพื่อกำหนดแนวทาง และรูปแบบในการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่เหมาะสมต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ