ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ ครั้งที่ 1/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 14:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) สาระสำคัญ

1.1 คณะกรรมการ กบส. จะมีการประชุมตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร โดยจะประชุมในวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00 — 12.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยหน่วยงานที่จะเสนอวาระให้คณะกรรมการ กบส. พิจารณา ต้องจัดส่งเอกสารให้ฝ่ายเลขานุการภายในวันศุกร์ เวลา 16.00 น. เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติบรรจุในวาระการประชุม

1.2 คณะกรรมการ กบส. จะพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ และแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

(2) กรอบแผนการลงทุนพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ

(3) แนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ

(4) สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งติดตามประเมินผลตามแผนการดำเนินงาน/แผนการลงทุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ

1.3 ในการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ กบส. ที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เห็นชอบ หรือรับทราบแล้วแต่กรณี ให้ถือปฏิบัติว่า กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ กบส. แล้ว โดยไม่ต้องเวียนขอความเห็นจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ กบส. อีก

มติคณะกรรมการ กบส.

1) เห็นชอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กบส. ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอและให้เพิ่มเติมปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการในคณะกรรมการ กบส. ด้วย

2) มอบหมายฝ่ายเลขานุการพิจารณาโครงสร้างการทำงานที่จะทำให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์มีความต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง

2. แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สาระสำคัญ

2.1 ภาพรวมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย

(1) ดัชนีด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index :LPI) ในปี 2550 ของธนาคารโลก ซึ่งประเมินใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) พิธีการศุลกากร 2) โครงสร้างพื้นฐาน 3) การขนส่งระหว่างประเทศ 4) สมรรถนะด้านโลจิสติกส์ 5) การติดตามสินค้า 6) ต้นทุนโลจิสติกส์ภายในประเทศ และ 7) ความตรงต่อเวลา ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 150 ประเทศ โดยประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 1 และ 27 ตามลำดับ

(2) ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทในปี 2550 (ร้อยละ 18.9 ต่อ GDP) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว (ร้อยละ 9-11 ต่อ GDP) โดยโครงสร้างต้นทุนประกอบด้วย 1) ต้นทุนค่าขนส่ง เท่ากับ 8.7 ของ GDP 2) ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังเท่ากับ 8.5 ของ GDP และ 3) ต้นทุนการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เท่ากับ 1.7 ของ GDP โดยต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนบริหารจัดการ

2.2 ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

(1) คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550 — 2554 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต 2) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ 3) การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ 4) การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และ 5) การพัฒนากำลังคน ข้อมูลและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

(2) ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สร้างความตระหนักและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ภายในองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเกษตร และสร้างต้นแบบที่ดีเพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง กระทรวงคมนาคม เพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเส้นทางท่าพระ-ท่าเรือแหลมฉบัง และกุดจิก-ท่าเรือแหลมฉบัง จากเดิม 10 และ 15 เที่ยว/เดือน เป็น 30 เที่ยว/เดือน และอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา — แหลมฉบัง กระทรวงการคลัง ลดเวลาการให้บริการส่งออกจากเดิม 24 วันในปี 2549 เหลือ 14 วันในปี 2552 ซึ่งดีกว่าประเทศมาเลเซีย (18 วัน) แต่เป็นรองประเทศสิงคโปร์ (5 วัน) และกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน ได้พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ในช่วงปี 2550 — 2551 ประมาณ 20,000 คน

2.3 แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

(1) แก้ไขปัญหาระยะสั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมมาตรการรองรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น การช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อคงสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ การรักษาสถานภาพการจ้างงาน และการจัดฝึกอบรมเพื่อชะลอการเลิกจ้าง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอื่น

(2) เร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การก่อสร้างทางคู่เส้นทางสายตะวันออก ช่วง ฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง การจัดหาหัวรถจักร 7 คัน และแคร่บรรทุกสินค้า 308 คัน การก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 การจัดตั้งระบบ National Single Window (NSW) เป็นต้น

(3) เร่งรัดโครงการลงทุนใหม่ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550 — 2554 โดยเฉพาะการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งหนาแน่นและการบูรณะ/บำรุงรักษาเส้นทางเดินรถไฟ การก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การพัฒนาท่าเทียบเรือเฉพาะสำหรับการขนส่งชายฝั่ง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางศักยภาพ และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค และการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบการขนส่งประเภทพิเศษ เช่น การขนส่งทางท่อ และการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตราย เป็นต้น

(4) ปรับปรุงด้านการบริหารจัดการ กฎ ระเบียบ บุคลากรและระบบข้อมูลโลจิสติกส์ ได้แก่ ผลักดันการปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่งสินค้าข้ามแดนและการให้บริการคลังสินค้าเขตปลอดอากร ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดทำมาตรฐานข้อมูลสำหรับการนำเข้า — ส่งออก ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบการขนส่งทางถนน และพัฒนาตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

2.4 ประมาณการกรอบวงเงินลงทุนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เบื้องต้นในระยะ 5 ปี (2552-2556) จำนวน 676,065 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนส่งและโลจิสติกส์จะเป็นส่วนหนึ่งของกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง ทั้งนี้ ควรพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และเป้าหมายการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ และมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

(1) เป็นโครงการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(2) เป็นโครงการที่มีความพร้อมและความสามารถที่จะดำเนินการได้ทันที

(3) เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง จำเป็นต้องตรวจสอบความครบถ้วนของแผนงาน/โครงการที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป และการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

มติคณะกรรมการ กบส.

1) รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ผ่านมา โดยควรกำหนดดัชนีวัดความก้าวหน้าในแต่ละด้านให้มีความชัดเจนมากขึ้น

2) รับทราบประมาณการกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศในช่วงระหว่างปี 2552 — 2556 จำนวน 676,065 ล้านบาท และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาความครบถ้วนของแผนงานและโครงการที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

3) เห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศตามข้อ 2.3 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ให้คณะกรรมการ กบส. ต่อไป

4) มอบหมายฝ่ายเลขานุการพิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอคณะกรรมการ กบส. พิจารณารวมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักหรือคณะทำงานตามความจำเป็น เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาและติดตามประเมินผลของแต่ละยุทธศาสตร์ และนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

3. สรุปผลการหารือรายละเอียดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง (กระทรวงอุตสาหกรรม) สาระสำคัญ

3.1 การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ที่มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ

3.2 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือในรายละเอียดของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีข้อสรุปดังนี้

(1) รัฐบาลควรเร่งผลักดันนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษสำหรับโรงงานประกอบ หรือโรงงานประกอบที่มีโรงงานซ่อมบำรุงรวมอยู่ด้วย รวมทั้งควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อดูแลในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

(2) ให้นำเสนอโครงการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ต่อคณะกรรมการ กบส. พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้ทันในปีนี้ด้วย

มติคณะกรรมการ กบส. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคมร่วมกันศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งในด้านความต้องการและขนาดการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ