แผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. 2550 — 2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2009 15:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ “แผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. 2550 - 2559) ” และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่า ในฐานะที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. 2550 — 2559) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือพัฒนาสังคมไทยให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความรู้คู่ คุณธรรม สามารถดำรงภูมิปัญญาของสังคมไทย ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสมและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสรุปสาระสำคัญของแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติได้ ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ ใช้มิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสังคมคุณธรรม

2. เป้าประสงค์

2.1 ระดับบุคคล

  • คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจงานด้านวัฒนธรรม และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  • คนไทยรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีค่านิยม และปรับปรุงวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนและสังคม
  • คนไทยมีความภูมิใจในความเป็นไทยและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  • คนไทยใช้คุณธรรมนำความรู้สร้างสรรค์สังคมให้เข้มแข็งและมั่นคง

2.2 ระดับชุมชน/สังคม

  • สังคมเป็นสังคมแห่งความสงบสุข มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
  • สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม มีเครือข่ายความร่วมมือและมีความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

2.3 ระดับประเทศ

  • ประเทศไทยสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก และใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
  • ประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมด้วยทุนทางวัฒนธรรม

3. พันธกิจ

3.1 อุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างมั่นคง

3.2 สนองงานสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน

3.3 สร้างสรรค์สังคมสันติสุขด้วยมิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในทุกระดับ

3.4 ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทางวัฒนธรรมเพื่อเชิดชูคุณค่าและจิตวิญญาณของความเป็นไทย

3.5 สร้างคุณค่าทางสังคมและส่งเสริมมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม

4. ยุทธศาสตร์

4.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบบริหารจัดการงาน ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์

4.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 อนุรักษ์ สืบทอด และส่งเสริมการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์

4.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ธำรง รักษา สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้คงอยู่คู่สังคมไทย ประกอบด้วย 1 กลยุทธ์

4.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสังคมคู่คุณธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์

4.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประกอบด้วย 1 กลยุทธ์

4.6 ยุทธศาสตร์ที่ 6 นำทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์

5. กลไกการขับเคลื่อน

5.1 หน่วยงานหลัก กระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันบัณฑิต พัฒนศิลป์ กรมศิลปากร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และกรมการศาสนา

5.2 หน่วยงานสนับสนุน

สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อสารมวลชน มูลนิธิไทย และเครือข่ายภาคประชาชน/ภาคเอก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ