รายงานสถานการณ์สารเคมีรั่วไหล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์สารเคมีรั่วไหลตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 15.00 น. ณ บริเวณลานวางตู้สินค้าท่าเทียบเรือ บี 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ของบริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) โดยโซเดียมเปอร์ซัลเฟต (สารฟอกขาว) ได้รั่วไหลและฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง เมื่อสัมผัสความชื้นในบรรยากาศ จึงเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดความร้อนจนถึงจุดติดไฟ

2. การแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า

การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที โดยจัดทีมเผชิญเหตุปฏิบัติงานดับไฟ ด้วยการใช้ฝอยน้ำสเปรย์ควบคุมกลุ่มควัน และลดอุณหภูมิตู้ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายตู้สินค้าอันตรายอื่นให้ห่างจากตู้ที่เกิดควัน นอกจากนี้ ยังดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ ควบคู่กันไป ได้แก่ ใช้ผงเคมีแห้งดับไฟภายในตู้ ให้น้ำกำลังดันสูงดับไฟภายในตู้ ใช้ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรด และตรวจวัดปริมาณก๊าซพิษและสภาพความเป็นกรดของน้ำที่ใช้ดับเพลิง ค่า pH = 5 จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายและยุติลง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 04.50 น. ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากจังหวัดชลบุรี กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี และสำนักงานเทศบาลตำบลแหลมฉบัง

3. ผลกระทบที่เกิดขึ้น

การแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากน้ำดับไฟ เพราะลดความเป็นกรดด้วยปูนขาว และน้ำดับไฟไหลลงบ่อบำบัด ส่วนกรณีการฟุ้งกระจายของควันจากสารเคมีที่ลุกไหม้ ถึงแม้ปริมาณไม่มากนัก เพราะควันส่วนใหญ่ถูกชะล้างด้วยน้ำสเปรย์ แต่ยังคงมีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดอาการป่วยหรือผิดปกติจากการสูดดมควันจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้รับบาดเจ็บ สินค้า และตู้บรรจุสินค้าได้รับความเสียหาย ดังนี้

3.1 ผู้ได้รับผลกระทบจากการสูดดมกลิ่นมีจำนวน 10 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบว่า เกิดจากการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่)

3.2 เจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการปฏิบัติงานดับไฟ จำนวน 1 ราย

3.3 สินค้าและตู้บรรจุสินค้าได้รับความเสียหาย (อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย)

4. การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

4.1 การดำเนินการเบื้องต้นของการท่าเรือแห่งประเทศไทย.

  • การท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการร่วมกับจังหวัดชลบุรีและโรงพยาบาลในพื้นที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการตรวจร่างกายและรักษาพยาบาลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันผู้ได้รับผลกระทบได้รับการรักษาพยาบาลจนมีอาการปกติ แพทย์ให้กลับบ้านได้แล้ว นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการร่วมกับเทศบาลตำบลแหลมฉบังในการรับแจ้งจัดทำบัญชีผู้ได้รับผลกระทบไว้ด้วย
  • มอบเงินชดเชย จำนวน 10,000 บาท ให้กับผู้เสียชีวิตตามข้อ 3.1

4.2 การดำเนินการต่อไป

เตรียมการบรรเทาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบเงินชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัวละ 5,000 บาท จำนวน 246 ครัวเรือน

5. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

กระทรวงคมนาคมได้กำชับให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา เฝ้าระวัง พื้นที่ โดยเฉพาะตู้บรรจุสินค้าอันตราย และให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการฝึกซ้อมการบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบเป็นประจำ เพื่อเป็นการเตรียมป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้อีก หรือกรณีที่เกิดขึ้นจะได้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันที ตามมาตรการที่เตรียมการรองรับไว้แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ