ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 13:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดนิยาม คำว่า “สมาชิก” หมายความว่าสมาชิกสภานครแม่สอด (ร่างมาตรา 3)

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้ยุบรวมเทศบาลนครแม่สอด และเทศบาลตำบลท่าสายลวด และจัดตั้งนครแม่สอดขึ้นเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมเขตเทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลตำบลท่าสายลวดที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตนครแม่สอดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตากมีเขตพื้นที่ครอบคลุมเขตจังหวัดตากยกเว้นเขตนครแม่สอด (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

4. กำหนดองค์การบริหารนครแม่สอด ซึ่งประกอบด้วยสภานครแม่สอด นายกนครแม่สอด และคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครแม่สอด (ร่างมาตรา 7)

5. กำหนดโครงสร้างการบริหารงานนครแม่สอด โดยมีนายกนครแม่สอดทำหน้าที่ฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของนครแม่สอด สภานครแม่สอดทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครแม่สอด ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อนายกนครแม่สอด รวมทั้งให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนานครแม่สอด และเสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการกรณีที่เห็นว่านายกนครแม่สอดปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติ (ร่างมาตรา 38 ร่างมาตรา 47 และร่างมาตรา 62)

6. กำหนดอำนาจหน้าที่ของนครแม่สอด ดังนี้

6.1 กำหนดอำนาจหน้าที่ทั่วไป มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและ เทศบาล เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และระบายน้ำ การขนส่ง การสาธารณสุข และการสาธารณูปการ (ร่างมาตรา 63)

6.2 กำหนดอำนาจหน้าที่พิเศษ เช่น การส่งเสริมการลงทุน การดูแลเขตอุตสาหกรรมและพาณิชย์ การดูแลการค้าชายแดนร่วมกับกรมศุลกากร การท่องเที่ยว การดูแลแรงงานต่างด้าว การจัดระเบียบจราจร การจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การตรวจสอบและควบคุมการเข้า-ออกในประเทศโดยร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การจัดให้มีและดูแลท่าอากาศยาน ท่าเรือ และระบบขนส่ง การผังเมืองและการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ และการสาธารณูปโภค (ร่างมาตรา 64)

7. กำหนดให้นครแม่สอดมีรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และอากรการฆ่าสัตว์ และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ ในเขตนครแม่สอด และรายได้อื่นตามที่กำหนด รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น และเงินอุดหนุนที่จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลโดยตรงเช่นเดียวกับ อปท. รูปแบบพิเศษอื่น ๆ (ร่างมาตรา 85 ร่างมาตรา 86 ร่างมาตรา 92 และร่างมาตรา 95)

8. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนครแม่สอดและรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครแม่สอดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของนครแม่สอด (ร่างมาตรา 99)

9. กำหนดบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 105 ถึงร่างมาตรา 110)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ