ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาต การออกใบอนุญาตประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 10:17 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาต การออกใบอนุญาตประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร

และการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาต การออกใบอนุญาตประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร และการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยรับข้อสังเกตของกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วย และให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือในการจัดพื้นที่จอดรถสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกินเจ็ดคนภายในหน่วยงานได้ตามความเหมาะสมในกรณีที่สามารถจัดพื้นที่จอดรถให้ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจราจร

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมได้เสนอว่า ปัจจุบันการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการเปิดรับจดทะเบียนแบบเสรีโดยไม่ต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบการรับจ้าง เพื่อให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถนำรถเข้ามาจดทะเบียนได้ ทำให้มีผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากในการกำกับดูแลทั้งด้านการให้บริการ มาตรฐานของผู้ขับรถและมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการให้สูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการรถยนต์รับจ้าง และเป็นการยกระดับมาตรฐานบริการของรถยนต์รับจ้าง ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง และเพิ่มความสะดวกสบายให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นจากที่มีอยู่ในปัจจุบันสมควรกำหนดให้มีการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างแบบพิเศษ (TAXI-VIP) ขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการรถยนต์รับจ้าง

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “รถยนต์รับจ้าง” “ใบอนุญาต” (ร่างข้อ 1)

2. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 (ร่างข้อ 2)

3. กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชน จำกัด หรือสหกรณ์ โดยให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมหลักฐานและต้องเสนอแผนธุรกิจการประกอบการรับจ้างบรรทุกโดยสาร ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างการจัดการองค์กรฯ จำนวนรถที่ใช้ในการประกอบการต้องไม่น้อยกว่า 10 คัน เป็นต้น (ร่างข้อ 3 — ร่างข้อ 4)

4. กำหนดให้รถยนต์รับจ้างมีอายุการใช้งานไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก (ร่างข้อ 8)

5. กำหนดลักษณะและเครื่องอุปกรณ์รถยนต์รับจ้าง เช่น เป็นรถเก๋งสองตอนหรือรถลักษณะอื่นตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด มีประตู่ไม่น้อยกว่าสี่ประตู และเครื่องยนต์มีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,200 ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน ต้องมีและใช้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น (ร่างข้อ 9)

6. กำหนดให้รถยนต์รับจ้างอาจติดตั้งอุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งคนขับรถกับคนโดยสารภายในห้องโดยสารก็ได้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของคนขับรถหรือ คนโดยสาร นายทะเบียนมีอำนาจกำหนดให้รถยนต์รับจ้างต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวได้ คุณลักษณะ วิธีการติดตั้ง และแบบของอุปกรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ร่างข้อ 10)

7. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ

7.1 จัดให้มีประกันความเสียหายประเภท 1 หรือประเภท 3 สำหรับรถยนต์รับจ้างทุกคันเพิ่มเติมจากการจัดให้มีประกันความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่มีวงเงินความคุ้มครองดังนี้

(ก) ความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายในวงเงินไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายต่อหนึ่งคนในแต่ละครั้ง และ

(ข) ความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงเงินไม่ต่ำกว่าสองแสนบาทสำหรับการชดใช้ค่าเสียหายในแต่ละครั้ง

7.2 จัดให้มีการบันทึกประวัติ ที่อยู่ และหมายเลขใบอนุญาตขับรถสาธารณะ การเข้ารับการฝึกอบรม และการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมด้วยรูปถ่าย ตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด (ร่างข้อ 11)

8. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และอัตราจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกโดยสาร ดังต่อไปนี้

8.1 ค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กำหนดโดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 150 บาท และกิโลเมตรต่อ ๆ ไปไม่เกินกิโลเมตรละ 25 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยในอัตรานาทีละไม่เกิน 10 บาท

8.2 อัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กำหนด ดังนี้

(ก) กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานหรือสถานที่ที่กระทรวงคมนาคมประกาศกำหนดโดยรถยนต์รับจ้างนั้นจอดรอคนโดยสารอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ กำหนดได้ไม่เกิน 200 บาท

(ข) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้าง กำหนดได้ไม่เกิน 100 บาท (ร่างข้อ 14)

9. กำหนดหลักเกณฑ์การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อนายทะเบียนพร้อมหลักฐาน (ร่างข้อ 17)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กรกฎาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ