คปภ. ชี้จุดเปลี่ยนเกษตรกรไทย...! บริหารความเสี่ยงด้วยประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2016 15:24 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ประกันภัยถือเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง (Disaster Risk Management) และยังสามารถพัฒนาให้เป็นระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อรองรับเหตุการณ์ภัยพิบัติในเชิงรุกโดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นก่อน การใช้ระบบการประกันภัยจึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์และป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันเกษตรกรในฐานะผู้เอาประกันภัยสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันภัยในฐานะผู้รับประกันภัย โดยที่เกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัย เพื่อจะได้รับความคุ้มครองทางการเงินหรือได้รับการชดเชยหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น และยังเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้ด้วยตนเองนอกเหนือจากการใช้บริการสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูก หรือเพื่อลดต้นทุนการผลิต

“รัฐบาลทุกยุคสมัยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหากับเกษตรกร โดยเดิมทีอยู่ในลักษณะของงบประมาณให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาภายหลังจากการเกิดปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ แม้จะมีการนำระบบประกันภัยพืชผลมาใช้ แต่ก็มักใช้วิธีประกาศเป็นนโยบายในแต่ละปีซึ่งจะได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ขาดเจ้าภาพดูแลอย่างเป็นระบบและขับเคลื่อนภารกิจให้ต่อเนื่อง ดังนั้นระบบการประกันภัยพืชผลอย่างครบวงจรจึงเป็นแนวทางที่จะตอบโจทย์ในการบริหารความเสี่ยงภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้กับเกษตรกร ซึ่งได้มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2559”

สำนักงาน คปภ. ร่วมกับหลายภาคส่วนขับเคลื่อนในเรื่องประกันภัยพืชผล โดยในส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เลขาธิการ คปภ. ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ซึ่งมี นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อดีตอธิบดีกรมการประกันภัย เป็นประธานคณะทำงานฯ

ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอต่อคณะทำงานฯให้เสนอรัฐบาลประกาศการประกันภัยพืชผล เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อวางกรอบกติกาเกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร และดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคเพื่อวางนโยบายรวมทั้งขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผล โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ เห็นด้วยในการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเป็น 3 ชุด 2 ระดับ กล่าวคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันภัยการเกษตร ระดับประเทศ (มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธานฯ) เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการรับประกันภัยการเกษตรในอนาคต และเพื่อเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินการปฏิรูปในระยะยาวในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการที่เกี่ยวกับการประกันภัยการเกษตร (Agricultural Insurance) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยการเกษตรไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ (มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานฯ) ผลักดันให้การประกันภัยการเกษตรเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นของเกษตรกร รณรงค์ ส่งเสริมให้การประกันภัยการเกษตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานการประกันภัยการเกษตรให้มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน และบรรลุผลสำเร็จในการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนากฎหมายของการประกันภัยการเกษตร และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร ระดับจังหวัด (มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานฯ) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประกันภัยการเกษตรไปสู่การปฏิบัติในจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานการประกันภัยการเกษตรในจังหวัด

นอกจากนี้คณะทำงานฯยังได้ร่วมกันวางแนวทางปฏิรูปและการปฏิบัติระบบประกันภัยพืชผลทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว กล่าวคือ ระยะสั้น (1-3 ปี) ประกอบด้วย การเร่งจัดตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการข้างต้น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การปรับเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน การใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน การลดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย การเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการรับประกันภัย รวมทั้ง การจัดให้มีโครงการอบรมให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรในจังหวัดนำร่อง การบูรณาการข้อมูลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนการจัดโครงการอบรมให้ความรู้นั้นสำนักงาน คปภ. ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบและได้ดำเนินการไปแล้ว ระยะปานกลาง (3 – 5 ปี) ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปลูกข้าว การกระจายความเสี่ยงไปยังผู้รับประกันภัยต่อต่างชาติ การเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้กลับมาซื้อซ้ำในโครงการปีถัดไป การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการจัดตั้ง National Insurance Pool

ระยะยาว (ภายใน 10 ปี) ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ทั้งนี้คณะทำงานฯได้สรุปรายงานเรื่องการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร เสร็จสมบูรณ์แล้ว และส่งให้คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง พิจารณาและได้ส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งให้ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานเรื่อง “การปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ความรู้ความเข้าใจต่อระบบประกันภัยของประชาชนยังคงเป็นส่วนสำคัญ ในการผลักดันและพัฒนาการประกันภัยในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองต่อการประกันภัยพืชผลว่าเป็นเรื่องไกลตัวและสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เหมือนกับการรับงบประมาณช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลดังเช่นที่ผ่านมา แตกต่างจากการประกันภัยพืชผลในต่างประเทศ ซึ่งมีการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นระบบที่จะเข้ามาช่วยลดภาระความเสี่ยง โดยในต่างประเทศมีระบบประกันภัยพืชผลที่ครอบคลุมทั้งด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และ การประมง

ทั้งนี้การสร้างระบบประกันภัยพืชผลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย จะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบประกันภัยพืชผลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเฉพาะในส่วนของการเคลมค่าเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาการเคลมค่าเสียหายในระบบประกันภัยพืชผลแบบเก่า จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินในพื้นที่นั้นๆ การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลในครั้งนี้ จึงมีแนวคิดในการปฏิรูปประกันพืชผล โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ สำรวจ และประเมินความเสียหาย เช่น เครื่องมือวัดดัชนีน้ำฝน เป็นต้น

นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังได้ตระหนักถึงกรณีที่เกิดความเสียหายเกิดขึ้น เกษตรกรจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม และหากมีจำนวนเกษตรกรทำประกันภัยกันจำนวนมากก็ย่อมมียอดเคลมประกันมากขึ้นตามไปด้วย ปัญหาการร้องเรียนย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย สำนักงานคปภ.จึงได้เสนอให้มีการสร้างระบบไกล่เกลี่ยผ่านผู้ชำนาญโดยเฉพาะด้วยการจัดตั้งศูนย์เคลมประกันภัยพืชผลโดยเฉพาะอีกด้วย

“ถ้าหากเราดูแลเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำจนจบที่ปลายน้ำ เมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจว่าระบบประกันภัยพืชผล คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร คุ้มค่าอย่างไร เขาก็จะมีความรู้สึกที่ดีกับระบบประกันภัย เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดปัญหาเหมือนในอดีต ที่มีตัวแทนนายหน้ามาขายประกัน ซึ่งก่อนขายมีการพูดจาหว่านล้อมแสดงความห่วงใยดูแลทุกอย่าง แต่พอถึงเวลาเคลมกลับมีปัญหา นายหน้าไม่มาดูแล หรือบริษัทประกันภัยมีการยกเหตุผลที่จะไม่จ่ายเคลมหรือจ่ายเคลมน้อย จึงเกิดการร้องเรียนเข้ามาที่ สำนักงาน คปภ.สุดท้ายก็ทำให้เกษตรกรรู้สึกไม่มั่นใจและมีความรู้สึกในทางลบต่อการประกันภัย” ดร.สุทธิพล กล่าวและว่า เหล่านี้คือความตั้งใจจริงของสำนักงานคปภ. ที่จะปฏิรูปการประกันภัยพืชผลในเมืองไทย และให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงภายใต้การประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อมีพื้นที่การประกันภัยเพิ่มมากขึ้น อัตราเบี้ยประกันภัยก็จะถูกลงตามกลไกตลาด และเมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะเป็นส่วนเสริมให้ระบบการประกันภัยพืชผลในเมืองไทยเติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ