บอร์ด คปภ.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเลฉบับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday August 29, 2016 15:55 —คปภ.

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... และให้สำนักงาน คปภ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากการประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองไว้ใช้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ศาลฎีกาได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายของต่างประเทศ จึงมีความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมาย และมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะ แยกจากกฎหมายประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยกร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลนี้จะที่ทำให้ประเทศไทยได้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเล ของตนเองเป็นครั้งแรก อันถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญ ที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาล เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการใช้การตีความกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดี ที่ไม่ต้องนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. อีกด้วย

“เดิม กรมเจ้าท่าได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... มาก่อน แต่จากการประสานความร่วมมือ กรมเจ้าท่าเห็นชอบให้สำนักงาน คปภ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ โดยยินดีร่วมเป็นคณะทำงานด้วย”

สำนักงาน คปภ. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการเพื่อศึกษาความจำเป็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในภาคปฏิบัติ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายจากกรมสนธิสัญญา รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน เพื่อศึกษา วิเคราะห์และให้ความเห็นในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... และ 2. คณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยทางทะเล โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำและเสนอร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล

คณะทำงานฯได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ การประกันภัยทางทะเล โดยใช้หลักการเดียวกับ พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance Act 1906) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันภัย (Insurance Act 2015) ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหลักการที่นานาประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งยัง ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายไทย ร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... แบ่งออกเป็น 15 หมวด 134 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ในเรื่อง การกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยทางทะเล มีการกำหนดหลักการทั่วไป เช่นหลักสุจริตอย่างยิ่ง หลักส่วนได้เสีย หลักรับช่วงสิทธิ รวมถึงการจำแนกประเภทของสัญญาประกันภัยทางทะเล และหลักการคำนวณสินไหมทดแทนสำหรับการประกันภัยแต่ละประเภท เป็นต้น

“เมื่อร่างเสร็จสมบูรณ์ คณะทำงานฯ ที่มาจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล ฉบับนี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังสอดรับกับระบบกฎหมายและวิธีปฏิบัติของประเทศไทย ซึ่งคณะทำงานฯ ได้นำร่าง พ.ร.บ. ที่ยกร่างนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการรับฟังความคิดเห็นได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์” เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมในที่สุด

ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล กล่าวว่า “ขอขอบคุณ คปภ. ที่ช่วยสานฝันให้เป็นจริง เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยมานานกว่า 30 ปี จะเป็นเครื่องมือสำคัญและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดระบบการค้า การขนส่ง การลงทุน และการศึกษาของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต”

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ