ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2016 15:05 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.46(YoY) โดยได้รับปัจจัยจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื่องมาจากการปรับขึ้นของราคาผักสดและผลไม้ เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป จากอุปทานในตลาดลดลงอันเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้พืชและสัตว์เติบโตได้ช้า 2) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา จากการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2559 3) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล มีการปรับขึ้นเล็กน้อยในส่วนของค่าบริการส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และหมวดเคหสถานยังคงฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อ เนื่องมาจากราคาน้ำมันและพลังงานและค่ากระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ ผลกระทบทางลบจากราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเข้าใกล้ราคาในปีก่อนหน้าและผลของฐานราคาสูงมีแนวโน้มลดลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ 100) เท่ากับ 107.02 อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 สูงขึ้น ร้อยละ 0.46 (YoY) จากการเพิ่มขึ้นของ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผล กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.05 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ผักสด อาทิ พริกสดและถั่วฝักยาว 2) เนื้อสุกร 3) ไข่ไก่ 4) อาหารสำเร็จรูป (ผลกระทบร้อยละ 0.52, 0.06, 0.04, และ 0.15 ตามลำดับ) และ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา จากค่าลงทะเบียน - ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษา ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.03 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จาก 1) ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม อาทิ ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี (ผลกระทบร้อยละ 0.02) 2) ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย และน้ำหอม (ผลกระทบร้อยละ 0.01) อย่างไรก็ตาม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ ยังคงส่งผลกระทบทางลบในอัตราที่ลดลงต่ออัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ -0.58 โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 95 และน้ำมันดีเซล รวมทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม ในหมวดเคหสถาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ร้อยละ -0.42

เมื่อเทียบเดือนเมษายน 2559 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่ากับร้อยละ 0.56 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) ผักสด (ผลกระทบร้อยละ 0.54) อาทิ พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า ผักกาดหอม 2) น้ำมันเชื้อเพลิง (ผลกระทบร้อยละ 0.30) 3) เนื้อสุกร (ผลกระทบร้อยละ 0.05) 4) ค่ากระแสไฟฟ้า (ผลกระทบร้อยละ -0.28)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 (ณ เดือนพฤษภาคม) อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 ทั้งนี้ ประเมินว่า 1) ปัจจัยสนับสนุนยังคงมีผลต่อเนื่องโดยเฉพาะการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน 2) สถานการณ์ Supply Disruption ในตลาดน้ำมันเริ่มคลี่คลาย อุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกยังคงชะลอลง 3) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงอีกเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสำคัญคือการปรับนโยบายของ FED

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 107.02 (เดือนเมษายน 2559 เท่ากับ 106.42 )

2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

2.1 เดือนเมษายน2559 (MoM) สูงขึ้น 0.56

2.2 เดือนพฤษภาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.46

2.3 เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม 2558) ลดลง -0.20

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.2 เทียบเดือนพฤษภาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.46 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2558 (YoY) ร้อยละ 0.46 โดยยังคงได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ บุหรี่ สูงขึ้นร้อยละ 13.15 หมวดหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.97 นอกจากนี้ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา (ค่าธรรมเนียมการศึกษาอุดมศึกษา) หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา (ค่าคนไข้นอก ค่าตรวจโรค) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.97, 1.07, 0.9, และ 0.53 ตามลำดับ ในขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -2.42 ตามแนวโน้มของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (ร้อยละ -9.32) และราคาพลังงานที่ใช้ในบ้านปรับตัวลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า (ร้อยละ -9.38) และก๊าซหุงต้ม (ร้อยละ -8.79) ส่งผลให้หมวดเคหะสถานลดลงร้อยละ -1.42

2.3 เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2559 เทียบกับ เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2558 (AoA) ลดลง ร้อยละ 0.20 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 5 เดือน (เดือนม.ค.-พ.ค.59/เดือนม.ค.-พ.ค.58) ลดลงร้อยละ 0.20 (AoA) ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ร้อยละ -3.64 (น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -0.63 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 10.66 ในขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และ

หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 1.52, 1.13, 0.88, 0.49 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 (ณ เดือนพฤษภาคม) อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

พฤษภาคม 2559 มีนาคม 2559

1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 3.3 (2.8-3.8)

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) 35 (30-40)

3.อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/เหรียญสหรัฐฯ) 37 (36-38)

ทั้งนี้ประเมินว่า 1) ปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ยังคงมีผลต่อเนื่องโดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 (ไตรมาสสี่ปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8) นับเป็นการการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเผ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญๆที่ต่ำกว่าคาด และการลงประชามติออกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง 2) สถานการณ์ Supply Disruption ในตลาดน้ำมันเริ่มคลี่คลาย อุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกยังคงชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ 3) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงอีกเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสำคัญคือการปรับนโยบายของ FED อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีแนวโน้มมีเสถียรภาพที่ดีเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ร้อยละ 8 ของ GDP ทำให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกได้ดี

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ และ 44.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ