สินค้าก๊อปปี้กับวัฒนธรรมจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 14:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ที่มาของสินค้าก๊อปปี้

ในภาษาจีน สินค้าลอกเลียนแบบ เรียกว่า ซานไจ้ (Zhanzhai) และจะไม่ใช้เรียกสินค้าดังกล่าวว่า สินค้าปลอมหรือสินค้าก๊อปปี้ ตามรากศัพท์ซานไจ้ หมายถึง “หมู่บ้านหรือสถานที่ในเขา” ซึ่งในสมัยก่อนเป็นที่อยู่อาศัยของพวกโจร หรือพวกนอกกฎหมายที่ต้องคอยหลบหนีการจับกุมของทางราชการ และเป็นที่มาของสินค้าก๊อปปี้ การผลิตสินค้าค้าซานไจ้มาจากจุดเริ่มต้นของบริษัทเล็กๆ ในมณฑลกวางตุ้งที่ลักลอบผลิตสินค้าซานไจ้ เนื่องจากการจะจดทะเบียนหรือการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีกฏระเบียบซับซ้อน รวมทั้งผู้ผลิตสามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการประกอบธุรกิจ ผู้ผลิตจีนจึงต้องหาสถานที่ผลิตสินค้าที่อยู่ห่างไกล (หลังเขา) เพื่อให้รอดพ้นจากการตรวจสอบของทางราชการ และผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งการก๊อปปี้สินค้าที่มีชื่อเสียงหรือลอกเลียนยี่ห้อสามารถจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้ง่าย ดังนั้น ในมณฑลกวางตุ้งจึงเกิดผู้ผลิตรายเล็กจำนวนมากผลิตสินค้าซานไจ้ หรือเป็นโรงงานซานไจ้ จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ซานไจ้ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนปัจจุบัน

สินค้าซานไจ้แทรกซึมในวัฒนธรรมจีน

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนถูกจัดแบ่งกลุ่มเป็นหลายกลุ่มตามรายได้ของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตสินค้าจึงอาศัยช่องว่างของสังคมหรือความแตกต่างของรายได้ผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง แต่มีความต้องการใช้สินค้าประเภทเดียวกับผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าที่ดูเหมือนหรือใกล้เคียงกับสินค้าแบรนด์เนม แต่แท้จริงแล้วคือสินค้าซานไจ้” ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีลักษณะคล้ายของจริงมาก ผู้ผลิตจีนมีการพัฒนาสินค้าซานไจ้ให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่มีราคาถูกกว่ามาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า มีการปลอมแปลงแบรนด์สินค้ายี่ห้อดังๆ จำนวนมาก การพัฒนาของผู้ผลิตจีนบวกกับการทำตลาดสินค้าทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้าที่ดูเหมือนดังกล่าวเป็นสินค้าจริง และมีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคบางส่วนโดยเฉพาะผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถบอกความแตกต่างของสินค้าได้ และเข้าใจว่าสินค้าที่ซื้อเป็นสินค้าจริง ตลาดสินค้าปลอมหรือสินค้าซานไจ้จึงมีขนาดใหญ่มากขึ้นจนเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของประชาชนจีนทีเดียว

ตัวอย่างขนาดตลาดสินค้าซานไจ้ เช่น สินค้าโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนซื้อหมายเลขโทรศัพท์มากถึง ๖๐๐ ล้านเลขหมาย จึงมีความต้องการโทรศัพท์มือถือมากถึง ๖๐๐ ล้านเครื่อง นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในจำนวน ๖๐๐ ล้านเครื่องดังกล่าวนั้น มีผู้บริโภคซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแท้ๆ เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

สินค้าซานไจ้ของจีนไม่จำกัดอยู่เพียงสินค้าที่มีการผลิตขึ้นมาเลียนแบบเท่านั้น ในสังคมจีนมีการเลียนแบบกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย เช่น การจัดกิจกรรมวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกปลอม การมอบรางวัลโนเบลปลอม ซึ่งการจัดกิจกรรมเลียนแบบนี้ ผู้จัดอ้างว่า เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ด้วย เช่น การจัดคอนเสริตเจ โชว์ (Jay Chou) ปลอม การแสดงของนักแสดงฮ่องกงหลิวเต๋อหัว (Andy Liu) ปลอม เป็นต้น

การดำเนินการของรัฐบาลจีนกับสินค้าซานไจ้

The State Administration for Industry and Commerce เป็นหน่วยงานของจีนที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสินค้าแบรนด์ดังๆ มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เมื่อเกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและนำคดีขึ้นสู่ศาล การพิจารณาของศาลในจีนอาจจะไม่ทำให้เจ้าของทรัพย์สินฯ เป็นผู้ชนะคดีเสมอไป โดยในปี ๒๐๑๐ มีคดีด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นสู่ศาลมากกว่า ๔๒,๐๐๐ คดี ในจำนวนนี้ผู้ฟ้องหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาชนะคดีไม่ถึงร้อยละ ๖๐

สรุป

สินค้าซานไจ้ในตลาดจีนเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายของกลุ่มผู้ซื้อ/ผู้บริโภคระดับกลางถึงล่าง โดยเฉพาะสินค้าประเภทโทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอีเล็คทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งถึอเป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของสังคมในจีน สินค้าซานไจ้ซื้อขายในตลาดกันอย่างเปิดเผย การที่ผู้บริโภคจีนสามารถซื้อสินค้าใกล้เคียงกันกับของจริงนั้นเป็นข้อดีข้อหนึ่งที่รัฐบาลไม่ต้องตอบคำถามสังคมที่สินค้าประเภทโทรศัพท์หรือสินค้าอิเล็คทรอนิกส์มีใช้เฉพาะผู้มีรายได้สูงเท่านั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ