เฉิงตู-ฉงชิ่ง ผนึกกำลังสร้างเขตเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลเสมือนปรากฎการณ์ผีเสื้อ Butterfly Effect ในเขตจีนตะวันตก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 17:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

พื้นที่ประเทศจีนมีขนาด 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรูปร่างลักษณะคล้ายไก่หันหน้าออกสู่ทะเลจีนใต้ด้านทิศตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศ เริ่มจากจุดที่สูงที่สุดเทือกเขาชิงไห่-ธิเบตระดับความสูง4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ค่อยไต่ระดับลาดลงสู่ที่ราบแถบริมทะเล ซึ่งเป็นปากทางออกของแม่น้ำฮวงโห และแยงซีเกียง แม่น้ำสายสำคัญสองเส้นที่เปรียบเสมือนอู่วัฒนธรรมจีนอันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี

เนื่องจากพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่รัฐบาลจีนจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ภาค ตามลักษณะการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนี้ ภาคตะวันออกประกอบด้วย 10 มณฑลคือ มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฟูเจี้ยน มณฑลกว่างตง มณฑลไห่หนาน มณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง 3 มหานคร คือมหานครปักกิ่ง มหานครเทียนจิง มหานครเซี่ยงไฮ้ ภาคกลางประกอบด้วย 8 มณฑลคือ มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลจี๋หลิน มณฑณส่านซี มณฑลเหอหนาน มณฑลอันฮุย มณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนาน มณฑณเจียงซี ภาคตะวันตกประกอบด้วย 5 เขตปกครองตนเองได้แก่ มองโกเลียใน หนิงเซียะ ซินเจียง กวางสี ธิเบต 6 มณฑลได้แก่มณฑลกานซู มณฑลส่านซี มณฑลชิงไห่ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน และ 1 มหานคร คือมหานครฉงชิ่ง

นโยบายเปิดประเทศในปี 1979 ทำให้เศรษฐกิจของจีนโตอย่างก้าวกระโดดแบบไม่สมดุลย์ระหว่างเขตตะวันออกริมทะเล กับเขตตะวันตกแผ่นดินตอนใน โดยจะเห็นได้จากตัวเลขผลผลิตมวลรวมเฉลี่ยรายหัวในเขตเมืองของแต่ละมณฑลในปี 2008 มณฑลในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกจะอยู่ที่ระดับ 20,000-70,000 หยวน/ปี แต่ภูมิภาคตะวันตกจะอยู่ที่ 8,450-18,000หยวน/ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทางรัฐบาลจีนตระหนักและพยายามแก้ไขผ่านนโยบายมุ่งตะวันตกตลอดเวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรี นายเวินเจียเป่าได้ประกาศดำเนินนโยบายต่ออีก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2009 -2019

ล่าสุดนายหลี่ โฮวเฉียง รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยนโยบายการเมืองเสฉวนได้เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจเสฉวน-ฉงชิ่งในรูปแบบทฤษฎีปรากฎการณ์ผีเสื้อ The Butterfly Model เป็นเสมือนปรากฎการณ์ลูกโซ่สามารถสร้างอิทธิพลไปทั่วพื้นที่ โดยมีแผนการว่าการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคตะวันตกเริ่มจากความร่วมมือของเสฉวน-ฉงชิ่งซึ่งมีภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะเสมือนแอ่งกระทะทองคำเมื่อพัฒนาแล้วก็เหมือนการเปิดดวงตาสวรรค์กระจายความร่วมมือไปมณฑลรอบข้างเป็นลักษณะความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างมณฑลทั้ง 4 ทิศคือ ทิศที่ 1 ซีอาน-เฉิงตู ประกอบด้วยซีอาน-เฉิงตู-หลันโจว(กานซู)-หยินชวน(หนิงเซียะ) ทิศที่ 2 เฉิงตู-คุนหมิง รวมเฉิงตู-คุนหมิง-ลาซา(ธิเบต)-ซีหนิง(ชิงไห่) ทิศที่ 3 คุนหมิง-ฉงชิ่ง ประกอบด้วย คุนหมิง-ฉงชิ่ง-อาเซียน-หนานหนิง(กวางสี) ทิศที่ 4 ซีอาน-ฉงชิ่ง ประกอบด้วยซีอาน-ฉงชิ่ง-ชางซา(หูหนาน)-วู่ฮั่น(หูเป่ย) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของแผ่นดินตอนในของจีนซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก 3 ประการดังนี้

เป็นผลดีต่อการผสานรวมระหว่างอารยธรรมแผ่นดินตอนในและแถบริมทะเล

อารยธรรมแผ่นดินตอนในเป็นตัวแทนของการกสิกรรม ที่พึ่งพาตนเอง ส่วนอารยธรรมแถบริมทะเลเป็นเสมือนตัวแทนของการค้าขายและการลงทุน การผสานรวมระหว่างอารยธรรมทั้งสองสร้างการพัฒนาอย่างสันติสุขขึ้นในประเทศจีน

เป็นผลดีต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของชนชาติกลุ่มน้อยอื่นๆ

พื้นที่ภูมิภาคตะวันตกของจีนถือได้ว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติเนื่องจากในพื้นที่มีชนชาติส่วนน้อยของจีนอาศัยอยู่ในพื้นที่มากที่สุด เช่นธิเบต และซินเจียง การพัฒนาในเขตนี้จึงสำคัญยิ่ง

เป็นผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะนี้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากเอเชียกลางเช่นคาซัคสถาน มีการสร้างท่อส่งเข้ามาทางซินเจียง ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของจีน ด้านทิศใต้กวางสีมีความร่วมมือกับเวียดนามในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งเส้นทางหลวงคุนหมิงกรุงเทพ และหนานหนิง-สิงคโปร์ ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในเร็ววัน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาในรูปแบบ The Butterfly Model ดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมฟอรัมการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเสฉวน-ฉงชิ่ง ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เฉิงตู ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2552 โดย คณะกรรมาธิการ China National Democratic Construction Association จากส่วนกลาง มณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง โดยการประชุมในครั้งนี้จะร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาในหัวข้อ “ร่วมสร้างเขตเศรษฐกิจเสฉวนฉงชิ่ง เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น”

ที่มา เรียบเรียงจากวารสารวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนานโยบายแห่งมณฑลเสฉวน 2009

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ