“อลงกรณ์” จับมือ “จัตวา อ่อง ตุน” สำรวจชายแดนไทยพม่าเตรียมเปิดช่องทางโลจิสติกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 15:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การร่วมมือกันในครั้งนี้นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปิดประตูการค้าตะวันตก 10 จังหวัดชายแดนไทย-พม่า จากภาคเหนือจรดภาคใต้ ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนองซึ่งเป็นจังหวัดหน้าด่านในการประสานจับมือกับพม่าเพื่อนำพาเศรษฐกิจของสองประเทศ ให้ก้าวเดินไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานร่วมกับ นายพลจัตวา อ่อง ตุน รัฐมตรีช่วงว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศพม่าในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สภาธุรกิจไทย-พม่า และสภาธุรกิจพม่า-ไทย ว่าไทยและพม่าได้ว่างเว้นการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า ระหว่างไทย-พม่า (Joint Trade Commission: JTC) มานานกว่า 6 ปี นับจากการประชุม JTC ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2547 และในวันนี้ (5 เมษายน 2553) ประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ครั้งที่ 5 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพม่านำโดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพลจัตวา อ่อง ตุน) และมีคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของพม่า ได้มาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งได้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมทั้งการประชุมระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายอีกด้วยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ที่กรุงเทพฯ

นายอลงกรณ์ เผยว่า การหารือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพร้อมให้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี พ.ศ. 2558 คือ จาก 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็น 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทั้งสองประเทศจะส่งเสริมเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าซึ่งกันและกัน มีการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศทั้งสอง และที่สำคัญจะจัดให้มีการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ชายแดนโดยร่วมกันจัดทำโครงการตรวจปล่อยแบบจุดเดียว (Single Service Inspection) มีโครงการนำร่อง ที่ด่านแม่สอด-เมียวดี ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบการใช้ประโยชน์จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งจะมีการปรับปรุงเส้นทาง R3W และบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่หนึ่ง ที่อำเภอแม่สอด รวมทั้งจะเร่งรัดการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่สอง และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะเร่งรัดการพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านถาวร 2 แห่งคือ ด่านห้วยต้นนุ่น-BP13จังหวัดแม่ฮ่องสอน และด่านสิงขร-มูด่อง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเปิดด่านชายแดนที่ปิดไปแล้ว คือ ด่านพญาตองซู ตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นการส่งเสริมและขยายการค้าชายแดนระหว่างกัน และเห็นชอบร่วมกันในการเปิดใช้เส้นทางการค้าใหม่ ได้แก่ เส้นทางเมียวดี-เมาะลำไย โดยจะเร่งให้มีการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ, เส้นทางกาญจนบุรี-ทวาย ที่ภาคเอกชนของไทยได้รับสัมปทานการสร้างถนนรวมทั้งท่าเรือน้ำลึกที่ทวายแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยพม่าจะช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนไทยในการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ยังจะร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่เส้นทางแม่ฮ่องสอน- เนปิดอ และเส้นทางแม่ฮ่องสอน-ทันเว

นอกจากนี้ ยังจะช่วยกันสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อทางรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่า โดยไทยจะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่นทุนการศึกษาด้านการค้าและการตลาด และหลักสูตรภาษาไทยและภาษาพม่าให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยพม่าจะให้ความร่วมมือและการสนับสนุนการลงทุนของ ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในพม่า และสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2แห่ง ได้แก่ แม่สอดและเมียวดี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต

“ความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-พม่า ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งของการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งขยายโอกาสด้านเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในทุกๆมิติ และการประชุมครั้งนี้นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปิดประตูการค้าตะวันตก 10 จังหวัดชายแดนไทย-พม่า จากภาคเหนือจรดภาคใต้ ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนองซึ่งเป็นจังหวัดหน้าด่านในการประสานจับมือกับพม่าเพื่อนำพาเศรษฐกิจของสองประเทศ ให้ก้าวเดินไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยกัน พร้อมกับนำประเทศไทยเชื่อมโยงตลาดเอเชียใต้และจีน ที่มีประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก และที่สำคัญยิ่ง คือ การเปิดใช้เส้นทางการค้าใหม่ต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยพลิกโฉมการพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงประเทศตะวันตกกับประเทศตะวันออก และเพิ่มบทบาทของท่าเรือแหลมฉบังของไทยต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าวปิดท้าย

การค้าระหว่างไทยกับพม่า ในปี 2552 พม่าถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจาก มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของพม่า โดยมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยเป็นการค้าชายแดน ประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด โดยจำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 5.3 หมื่นล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าไทยจะเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าสหภาพพม่า 4.3 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าประเภทเชื้อเพลิงและวัตถุดิบจากพม่า 91% เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทย

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากพม่า 5 อันดับ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค (ปลาเบญจพรรณแช่เย็นแช่แข็ง เช่น ปลากระพง ปลาจาระเม็ด และปลาลิ้นหมา) ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ในขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังพม่า 5 อันดับ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ปูนซิเมนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ