กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านดีไซน์เสื้อผ้าของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 20, 2010 16:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

วุฒิสมาชิก Charles Schumer (พรรค Democrat รัฐNew York) เสนอพระราชบัญญัติ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักออกแบบเสื้อผ้าอเมริกัน (Innovative Design Protection and Piracy Prevention Act 2010: S.3728) เข้าสู่วุฒิสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองและป้องกันด้านการออกแบบและดีไซน์เครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นต้นแบบหรือแบบใหม่ (Original & New Designs)

ปัจจุบัน กลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปมีการคุ้มครองในด้าน Design & Fashion มานานแล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ ยังล้าหลังกลุ่มประเทศยุโรป ในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิประโยชน์ของนักออกแบบเสื้อผ้า จากการลอกเลียนจากกลุ่มคนภายนอกหรือจากต่างประเทศ และนักออกแบบไม่ได้รับการคุ้มครองเพียงพอจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Copy Right Law) ของสหรัฐฯ จึงเป็นผลให้มีสินค้าเสื้อผ้าถูกลอกเลียนแบบ (Knockoffs) จำหน่ายจำนวนมากในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการสูญเสียผลประโยชน์ของนักออกแบบสหรัฐฯ

สาระสำคัญของกฎหมาย

1. ให้การคุ้มครองผลงานของนักออกเมริกันแบบเฉพาะในส่วนที่เป็น Original Design และNew Design เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจาก ที่ลงมือทำการผลิต (Production)

2. กฏหมายบังคับให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า/ขายส่ง เสื้อผ้า กระเป๋า และ รองเท้า ลอกเลียนแบบ เป็นผู้มีความผิดและได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ร้านค้าที่จำหน่าย และ ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ไม่มีความผิด ทั้งนี้ กฏหมายอนุญาตให้ลอกเลียนแบบได้เฉพาะดีไซน์ที่นำมาตัดสวมใส่เอง (Personal use only)

3. กำหนดบทลงโทษให้ผู้กระทำผิดเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือไม่เกิน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ และยึดสินค้า แต่ไม่มีการจำคุก

การสนับสนุนและคัดค้าน

1. หากกฎหมายมีผลบังคับ ซึ่งหมายถึงว่า โรงงานผลิตเสื้อสำเร็จรูป ไม่สามารถไปลอกเลียนแบบ ชุดแต่งงานของ Vera Wang ซึ่งออกแบบให้แก่ Chelsea Clinton หรือ ชุดราตรีของ Oscar De La Renta, Calvin Klein ซึ่งดาราฮอลลี่วู้ดใส่ไปงาน Amy Award หรือ Oscar Award อีกต่อไปได้ ซึ่งคนในวงการแฟชั่นสหรัฐฯ ดังนั้นประชาชนทั่วไปจะไม่มีโอกาสได้สวมใส่เสื้อเลียนแบบดาราหรือคนมีชื่อเสียง

2. กลุ่มผู้สนับสนุนให้ความเห็นว่า กฏหมายจะเป็นประโยชน์ ต่อนักออกแบบสหรัฐฯ (1) ผลงานจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกันกับงานศิลปะของจิตกร หรือ ศิลปิน (2) สร้างศักยภาพให้ผลงานของนักออกแบบอเมริกันเป็นที่ยอมรับ หรือทัดเทียมกับนักออกแบบของยุโรป (3) ผลักดันให้ห้างและร้านค้าปลีกหันมาสร้างเสื้อผ้าดีไซน์ของตนเอง และหันมาจัดจ้างนักออกแบบประจำห้างร้าน และขายเสื้อผ้าที่เป็นดีไซน์ของตนเองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนนักออกแบบ และจำนวนเสื้อผ้าแฟชั่นให้มากขึ้น และ (4) เป็นการหยุดยั้งการซื้อ-ขายสินค้าดีไซน์ลอกเลียนแบบในสหรัฐฯ

3. กลุ่มผู้คัดค้านมีความเห็นว่า (1) กฎหมายนี้จะส่งผลต่อการส่งเสริมผลักดันด้านออกแบบและดีไซน์เนื่องจากกฎหมายจะจำกัดโอกาสของนักออกแบบรายอื่นๆ ในการคิดสร้างสรร และประยุกต์ความคิดอ่านเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านแฟชั่นชนิดใหม่ และจะเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรวมของสหรัฐฯ (2) กลุ่มนักออกแบบชื่อดังเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด กลุ่มนักออกแบบชื่อดังจะขยายตลาดเสื้อผ้าของตนเข้าสู่ตลาดระดับกลางหรือตลาดล่าง ซึ่งเป็นตลาดเสื้อผ้าราคาย่อมเยา

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. กฏหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์ของผู้ผลิต/ ส่งออกเสื้อผ้าในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยซึ่งส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ เนื่องจาก ผู้นำเข้าจะเลี่ยงซื้อเสื้อผ้าดีไซน์ที่ได้รับการออกเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเสื้อของนักออกแบบสหรัฐฯ ที่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยผลิตขึ้นมา เพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาฟ้องร้องทางกฏหมาย และถูกปรับ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยอาจจะต้องปรับกลยุทธ์การส่งออกไปยังสหรัฐฯ

2. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจาก สมาคม American Apparel & Footwear Association และ สมาคม Council of Fashion Designers of America (CFDA) รวมไปถึงวุฒิสมาชิกและวุฒิสภา 6 ท่าน และปัจจุบัน กฏหมายถูกนำเสนอต่อให้กรรมาธิการ Committee on the Judiciary พิจารณา ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จึงเชื่อว่าร่างกฏหมายฉบับนี้จะได้รับการเห็นชอบให้เป็นกฏหมายบังคับ เพราะว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และให้ความคุ้มครองนักออกแบบสหรัฐฯ และผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของกฎหมายได้ จากWebsite: http://thomas.loc.gov/cgi-bin/bdquery/z?d111:s.03728:

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ